Abstract:
การวิจัยเรื่องทักษะในการเรียนของนักศึกษาไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. สร้างและปรับปรุงแบบทดสอบวัดทักษะในการเรียนเพื่อใช้กับนักศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษา 2. ศึกษาความสัมพันธ์ของทักษะในการเรียนประเภทต่างๆ กับคะแนนเฉลี่ยสะสม ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาต่าง ๆ 3. ศึกษาอำนาจของการทำนายผลสัมฤทธิ์ในการเรียน โดยใช้ทักษะในการเรียนเป็นตัวทำนาย 4. ศึกษาเปรียบเทียบทักษะในการเรียนของนักศึกษาที่อยู่ในสถาบันการศึกษา ซึ่งอยู่ในภาคต่าง ๆ ว่า มีระดับทักษะแตกต่างกันหรือไม่ 5. ศึกษาเปรียบเทียบทักษะในการเรียนของนักศึกษา ที่เรียนวิชาเอกภาษา อังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ดนตรี และอนุบาล ว่าจะแตกต่างกันหรือไม่ 6. ศึกษาเปรียบเทียบคะแนนบรรทัดฐานของทักษะในการเรียน ของนักศึกษาไทยและนักศึกษาอเมริกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตปีที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาปีที่ 1 ของวิทยาลัยครู 4 แห่ง ในภาคต่างๆ จำนวนรวมทั้งสิ้น 511 คน การเก็บข้อมูลทำในภาคต้นของปีการศึกษา 2524 ผลของการวิเคราะห์ พบว่า 1. คะแนนบรรทัดฐานของการทำแบบทดสอบทักษะในการเรียนของกลุ่มตัวอย่าง ในแต่ละสถาบันการศึกษาต่างกัน โดยมีลำดับที่เปอร์เซ็นไตล์ 99 เป็นคะแนน 46-57 และลำดับเปอร์เซ็นไตล์ที่ 1 เป็นคะแนน 4 – 12 ซึ่งเป็นช่วงที่ต่างกัน 9-12 คะแนน 2.คะแนนบรรทัดฐานของการทำแบบทดสอบทักษะในการเรียนของนักศึกษาไทย ในการวิจัยต่างกับคะแนนบรรทัดฐานของกลุ่มอ้างอิงในสหรัฐอเมริกา โดยมีคะแนนดิบของคะแนนมาตรฐานที่ 99 เปอร์เซ็นไตล์ และที่ 1 เปอร์เซ็นไตล์ ต่ำกว่าประมาณ 5-8 คะแนน 3. นักศึกษาที่มาจากสถาบันต่างกัน มีคะแนนทักษะในการเรียนต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (F = 4.653, df = 4,497 , P = .001) โดย เฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาที่มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา พบว่าต่างกันบ่อยครั้งที่สุด 4. นักศึกษาที่เรียนวิชาเอกต่างกัน จะมีคะแนนทักษะในการเรียนต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (F = 6.546, df = 4,370 , P = .000) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ จะเป็นกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยต่างกับกลุ่มนักศึกษาวิชาเอกอนุบาลและดนตรี บ่อยครั้งที่สุด และนักศึกษาวิชาเอกคณิตศาสตร์ มีคะแนนทักษะในการเรียนสูงที่สุด รองลงมาคือ นักศึกษาวิชาเอกอังกฤษ ไทย ดนตรี และอนุบาล ตามลำดับ 5. คะแนนทักษะในการเรียนของนักศึกษา มีความสัมพันธ์กับคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPA) ซึ่งเป็นดรรชนีของผลสัมฤทธิ์ในการเรียน โดยสามารถใช้ (R = .163, F = 3.568 , df = 5,481 , P = .001) และมีส่วนร่วมในความแปรปรวน 3 เปอร์เซ็นต์ (R[superscript2] = .027)