Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้วิธีสอนแบบคอนคอร์แดนซ์เพื่อแก้ปัญหาความรู้คำศัพท์ที่ไม่เพียงพอสำหรับการอ่านเชิงวิชาการ วัตถุประสงค์ในการวิจัยคือเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการสอนแบบคอนคอร์แดนซ์กับแบบประเพณีนิยมที่มีต่อความรู้ความหมายศัพท์ ความรู้ศัพท์ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ในรูปแบบอื่นได้ และอัตราการจำคำศัพท์ นอกจากนี้งานวิจัยยังมีวัตถุประสงค์ที่จะสำรวจกระบวนการเรียนรู้และทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อการใช้วิธีการแบบคอนคอร์แดนซ์ การทดลองจัดทำกับนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์สองกลุ่มเป็นระยะเวลาหนึ่งภาคการศึกษา นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้รับการสุ่มเลือกให้เป็นนักศึกษากลุ่มทดลองที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบคอนคอร์แดนซ์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักศึกษากลุ่มเปรียบเทียบเรียนด้วยวิธีสอนแบบประเพณีนิยม นักศึกษาแต่ละกลุ่มจะถูกจับคู่กันตามระดับความรู้คำศัพท์ที่ปรากฏในข้อสอบก่อนเรียน ในช่วงเตรียมการทดลอง ได้สร้างคลังข้อมูลภาษาขึ้นจากการรวบรวมข้อความภาษาอังกฤษจากบทความเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากนั้น คำศัพท์สำหรับใช้เรียนในการทดลองได้คัดเลือกจากคำที่มีความถี่ในการใช้สูงมากในคลังข้อมูลทางภาษา คำศัพท์เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบสร้างบทเรียน อุปกรณ์ประกอบการสอน กิจกรรมและเครื่องมือทดสอบ ในระหว่างการทดลอง นักศึกษากลุ่มทดลองฝึกกิจกรรมจากเอกสารประกอบการสอนและลงมือปฏิบัติเพื่อเรียนรู้จากข้อมูลคอนคอร์แดนซ์ที่ได้จากคลังข้อมูล ส่วนนักศึกษากลุ่มเปรียบเทียบได้รับการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดจากการอ่านและการฝึกฝนด้านความรู้ศัพท์ เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลประกอบด้วย ข้อสอบก่อนเรียน ข้อสอบหลังเรียน ข้อสอบหลังจบการทดลองได้ระยะหนึ่งข้อสอบย่อยแบบจดบันทึกของครู แบบจดบันทึกของนักเรียนแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ ผลการทดลองสรุปเป็นสามประเด็นสำคัญคือผลสัมฤทธิ์จากการเรียน กระบวนการเรียนรู้ และทัศนคติของผู้เรียน ในด้านผลสัมฤทธิ์จากการเรียน ผลจากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มโดยใช้วิธีการทางสถิติ MANOVA ที่ระดับค่านัยสำคัญ 0.05 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญในทุกแบบทดสอบ ในด้านกระบวนการเรียนรู้พบว่าทักษะของนักศึกษาทั้งด้านคอนคอร์แดนซ์และทางภาษาพัฒนาขึ้นมากโดยเรียนรู้ทักษะการใช้โปรแกรมคอนคอร์แดนซ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนทักษะในการวิเคราะห์และแปลความจากบทความพัฒนาขึ้นมาก แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนในระยะเวลาที่นานขึ้นก่อนที่นักศึกษาจะสามารถใช้วิธีการเหล่านี้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อวิธีการสอนแบบคอนคอร์แดนซ์