Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการเขียนงานเชิงวิชาการและปัญหาในการเขียนของนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะสาขา โดยมุ่งศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนของนิสิตที่มีความสามารถทางภาษาอยู่ในระดับสูง ระดับปานกลาง และระดับต่ำ อีกทั้งศึกษาประเภทและปริมาณของข้อผิดพลาดในงานเขียนของนิสิตที่มีความสามารถทางภาษาต่างกัน และเพื่อหาวิธีการเรียนการสอนที่จะช่วยปรับปรุงทักษะการเขียนของนิสิต กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะสาขาในปีการศึกษา 2541 จำนวน 180 คน และในปีการศึกษา 2542 จำนวน 200 คน โดยแบ่งตามระดับความสามารถทางภาษาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสูง ระดับปานกลาง และระดับต่ำ โดยพิจารณาจากผลคะแนนสอบวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2 เป็นเกณฑ์ในการแบ่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบทดสอบทักษะการเขียนแบบอัตนัยซึ่งครอบคลุมการเขียน 4 ประเภท คือการเขียนตอบคำถาม การเขียนบรรยายกราฟ การเขียนสรุปความ และการเขียนอภิปราย แบบสอบถามความคิดเห็นของนิสิต และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้สอนเกี่ยวกับความจำเป็นในการพัฒนาทักษะการเขียนงานประเภทต่าง ๆ ปัญหาในการเขียน วิธีการเขียนการสอนทักษะการเขียนและการตรวจและประเมินงานเขียน การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วย one-way ANOVA, Scheffe test และ t-test แบบกลุ่มอิสระ และหาความสัมพันธ์ด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อันดับที่ของสเปียร์แมน การวิจัยนี้พบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเขียนโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาล โดยมีความสามารถในการเขียนบรรยายกราฟดีที่สุด รองลงมาคือ การเขียนตอบคำถาม การเขียนสรุปความและการเขียนอภิปรายตามลำดับ 2. โดยเฉลี่ยแล้วนิสิตกลุ่มเก่งมีความสามารถในการเขียนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง นิสิตกลุ่มปานกลางมีความสามารถในการเขียนอยู่ในระดับปานกลาง และนิสิตกลุ่มอ่อนมีความสามารถอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ และความสามารถในการเขียนของนิสิตทั้งสามกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. โดยเฉลี่ยแล้วนิสิตกลุ่มตัวอย่างสามารถใช้ภาษาในการเขียนสรุปความดีกว่าการเขียนบรรยายกราฟและการเขียนอภิปรายตามลำดับ 4. โดยเฉลี่ยแล้วนิสิตกลุ่มตัวอย่างสามารถเรียบเรียงเนื้อความในการเขียนบรรยายกราฟได้ดีกว่าการเขียนสรุปความและการเขียนอภิปรายตามลำดับ 5. โดยเฉลี่ยแล้วนิสิตกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ด้านเนื้อหาในการเขียนบรรยายกราฟดีกว่าการเขียนสรุปความและการเขียนอภิปรายตามลำดับ 6. ความสัมพันธ์ระหว่างผลคะแนนสอบการเขียนงานเชิงวิชาการ 4 ประเภท อยู่ในระดับปานกลางถึงตำ 7. นิสิตที่มีความสามารถทางภาษาต่ำจะมีข้อผิดพลาดในการเขียนคล้ายกับนิสิตที่มีความสามารถทางภาษาสูงต่ำจะมีข้อผิดพลาดในการเขียนคล้ายกับนิสิตที่มีความสามารถทางภาษาสูงกว่าแต่ในปริมาณที่มากกว่าทั้งด้านกลไกการเขียนด้านคำศัพท์ ด้านไวยากรณ์และระดับข้อความ 8. ไวยากรณ์เป็นปัญหาที่นิสิตกลุ่มตัวอย่างประสบมากที่สุดในการเขียน รองลงมาคือ คำศัพท์ การเรียบเรียงเนื้อความ การคิดเนื้อความที่จะเขียน และกลไกการเขียนตามลำดับ ผลการวิจัยนี้สรุปได้ว่าความสามารถในการเขียนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ ความสามารถทางภาษา ความรู้ภูมิหลัง และประเภทของงานเขียน นอกจากนี้ระดับความสามารถทางภาษามีผลต่อชนิดและปริมาณของข้อผิดพลาดในงานเขียน งานวิจัยนี้ได้เสนอว่าในการสอนทักษะการเขียนงานเชิงวิชาการควรเน้นการสอนไวยากรณ์และคำศัพท์ควบคู่ไปกับการสอนกระบวนการคิดและกระบวนการเขียน ควรมีการผสมผสานระหว่างการสอนแบบเน้นผลงานและการสอนแบบเน้นกระบวนการ ควรให้นิสิตฝึกฝนทั้งการอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านเนื้อหาและฝึกฝนการเขียนทั้งในและนอกชั้นเรียน