Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อค้นหาข้อสรุปต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจากงานวิจัยต่าง ๆ ในระยะ 16 ปีที่แล้วมา และเพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของงานวิจัยดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร โดยวิธีอภิวิเคราะห์และการสังเคราะห์ผลการวิจัย การศึกษาครั้งนี้ใช้ตัวอย่างงานวิจัย 335 เรื่องจากประชากรเชิงนิยาม 425 เรื่อง ที่เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของนิสิตปริญญาโทและของอาจารย์สถาบันภาษา ซึ่งทำแล้ว เสร็จในระหว่างปี พ.ศ. 2515-2530 สถิติที่ใช้ได้แก่ t-test, F-test, z-test, X[square]-test และสถิติเชิงบรรยายต่าง ๆ ผลการวิจัยที่สำคัญ คือ 1. เมื่อวัดด้วยแบบทดสอบการฟังโดยตรง นักเรียนในระดับชั้น ม.6 ในกทม. มีศักย์ภาพทางการสื่อสารด้านการฟังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ การทดสอบการฟังด้วยแบบวัดโดยตรงและโดยทางอ้อมใช้แทนกันไม่ได้ 2. นักเรียนในระดับชั้น ม.5 ทุกสานวิชา มีความสามารถทางโครงสร้างทางภาษาในระดับต่ำ ความสามารถนี้มีความสัมพันธ์กับความสามารถด้านการอ่านและเขียนในระดับปานกลาง 3. นักเรียนระดับชั้น ม. 6 สายอาชีพ มีความสามารถทั่วไปทางภาษาด้านการอ่าน ฟัง พูด และเขียนค่อนข้างต่ำมาก และความสามารถเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง 4. บทเรียนโปรแกรมมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนโครงสร้างทางภาษามากเพราะทำให้ผู้เรียนมีสัมฤทธิผลเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญทุกคน 5. ผลการทดสอบการฟังด้วยแบบทดสอบโคลซและแบบทดสอบแบบเลือกตอบสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง แต่ผลการทดสอบการอ่าน โครงสร้างภาษา การเขียน และคำศัพท์ ด้วยแบบทดสอบทั้ง 2 ชนิดสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง 6. ความถนัดทางภาษา เจตคติและความสนใจมีความสัมพันธ์กับสัมฤทธิผลในการเรียนภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ แต่แรงจูงใจมีความสัมพันธ์กับสัมฤทธิผลการเรียนในระดับปานกลาง 7. งานวิจัยโดยมากเกี่ยวกับตัวอย่างในระดับมัธยมศึกษามากที่สุด เกี่ยวข้องกับการอ่านมากที่สุด เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจมากที่สุด และวิจัยเกี่ยวกับผู้เรียนมากที่สุด 8. งานวิจัยจำนวนมากมีความหลากหลายในด้านเนื้อหาสาระ ทำให้งานวิจัยในแต่ละเรื่องมีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะทำการอภิวิเคราะห์หรือการสังเคราะห์ผลการวิจัยให้ผลเป็นที่น่าเชื่อถือได้ จึงต้องอาศัยการบรรยายสรุปผลการวิจัยแทน