Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปแบบโครงสร้างของลำดับขั้นการเรียนรู้การอ่านเข้าใจความภาษาอังกฤษว่า จะมีลักษณะรูปแบบเป็นอย่างไร โดยยึดแนวความคิดของบลูมและคณะในการจำแนกความสามารถในการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยออกเป็น 6 ด้าน คือ ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะสาขาวิชา 1 (EAP I) ในปีการศึกษา 2538 จำนวน 380 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบทดสอบสมิทธิภาพ (Proficiency test) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเพื่อวัดความสามารถทั่วไปในการอ่านเข้าใจความภาษาอังกฤษทั้ง 6 ด้าน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis) ด้วยเทคนิค Partial Least Square (PLS) และทดสอบความสอดคล้องของรูปแบบความสัมพันธ์เชิงสมมติฐานใน modelsต่าง ๆกับข้อมูลเชิงประจักษ์ตามวิธีการของสเปคท์ (specht) โดยใช้โปรแกรม Amos ในการวิเคราะห์และตรวจสอบ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบโครงสร้างของลำดับขั้นการเรียนรู้ทักษะการอ่านเข้าใจความภาษาอังกฤษมีลักษณะสะสมต่อเนื่อง โดยที่ความสามารถในระดับต้นที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังความสามารถในระดับสูงขึ้นไปมีเพียงด้านเดียว คือ ความสามารถด้านความรู้ความจำและมีลักษณะรูปแบบแยกแขนง (Branching) ไม่เป็นเส้นตรง (simple linear model) แต่ลักษณะการแยกแขนงมีความแตกต่างจากรูปแบบที่มีผู้อื่นศึกษามาแล้วอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ รูปแบบที่ทำการศึกษามีความสามารถปลายทาง 3 ด้าน คือ ความสามารถด้านการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า โดยความสามารถด้านการวิเคราะห์ และการสังเคราะห์แยกแขนงออกมาจากความสามารถด้านความเข้าใจ ส่วนความสามารถด้านการสังเคราะห์แยกแขนงมาจากความสามารถด้านความรู้ความจำโดยตรงเพียงด้านเดียว