Abstract:
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแวดวงแฟชั่นมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันถึงการสร้างค่านิยมแบบบริโภคนิยม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจากขยะสิ่งทอ ไปจนถึงคาร์บอนฟุตพรินต์ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าใหม่ในแต่ละชิ้น โดยเฉพาะปัญหาของ ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) นั่นคือ เสื้อผ้าตามกระแส คุณภาพต่ำ และเน้นการสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้ง
ปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตื่นตัวกับปัญหานี้ และเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงวิธีการการลดการใช้ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น โดยมีการส่งเสริมเซอร์คูลาร์แฟชั่น (Circular Fashion) นั่นคือ การใส่เสื้อผ้าอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งการเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองถือเป็นทางเลือกที่ดีต่อการลดปัญหานี้ และการใช้ช่องทางออนไลน์ก็มีการเปิดกว้างในตลาดกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
จากผลการศึกษาพบว่า ความกังวลของผู้บริโภคที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ามือสอง กรณีซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก-มากที่สุด คือ ขนาดพอดีตัวหรือไม่
ดังนั้น ในการศึกษาฉบับนี้ ที่ได้มีการค้นพบเรื่องความกังวลเกี่ยวกับขนาดของเสื้อผ้า ผู้วิจัยจึงได้นำวิธีการวัดระยะทางแบบยูคลิดมาใช้ ซึ่งคือ การคิดว่าจุดข้อมูลหนึ่ง ๆ มีได้หลายมิติ เช่นเดียวกับสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ หากขนาดตัวของผู้ซื้อมีความใกล้เคียงกับผู้ขายหรือใกล้เคียงกับนางแบบ จะทำให้สามารถมั่นใจว่า เมื่อใส่เสื้อผ้าแล้ว จะมีความคล้ายกับนางแบบมากที่สุด