Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์นมที่เพิ่มสารสกัดจากขมิ้นชันด้วยวิธีเอนแคปซูเลชันโดยใช้กลูโคแมนแนน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยเห็นโอกาสในการตอบสนองความต้องการดังกล่าว รวมถึงความสนใจในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยด้วยเทคโนโลยี จึงนำงานวิจัยดังกล่าวมาศึกษาเพื่อออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วม (Conjoint analysis) ในการวิเคราะห์ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing mix) ได้แก่ แนวคิดผลิตภัณฑ์ (Product), ราคา (Price), ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) และกิจกรรมส่งเสริมการขาย (Promotion) จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน
ผลการศึกษาพบว่ากลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์นมผสมสารสกัดจากขมิ้นชันที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพื่อการชะลอวัยและลดการอักเสบที่ผิวหนัง ด้วยเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชันเพิ่มการดูดซึมสารสกัดจากขมิ้นชันเพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่า มีจำหน่ายในร้านค้าชั้นนำและทางออนไลน์ ในราคา 25 บาท ขนาด 180 มิลลิลิตร
ด้านการศึกษาความเป็นไปได้ในทางการเงิน ของธุรกิจในการผลิตผลิตภัณฑ์นมผสมสารสกัดจากขมิ้นชันด้วยการจ้างผลิต (OEM) โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้น 1,590,000 บาท พบว่าในกรณีปกติ (Base case) ที่ผลิตภัณฑ์ถูกจำหน่ายในราคา 25 บาท ธุรกิจมีผลตอบแทนโดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของธุรกิจ (NPV) เป็นบวก เท่ากับ 783,980 บาท มีอัตราผลตอบแทนภายในที่มีค่ามากกว่าต้นทุนทางการเงิน (IRR) เท่ากับ 26% และมีระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจ (Payback period) เท่ากับ 2.91 ปี จึงสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์นมที่เพิ่มสารสกัดจากขมิ้นชันด้วยวิธีเอนแคปซูเลชันโดยใช้กลูโคแมนแนนมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์