Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมในประเทศไทย 2) เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบประเมินความพร้อมของเมืองจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมในประเทศไทย และ 3) เพื่อศึกษาการยอมรับของนวัตกรรมการบริการที่ส่งเสริมให้เกิดโมเดลการพัฒนาเมืองจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมด้วยการพัฒนาระบบเว็บแอปพลิเคชันที่ประเมินความพร้อมของเมืองและนำเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองตามความต้องการของผู้จัดการประชุม และศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของระบบประเมินฯ งานวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มและแบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญในการพิจารณาเลือกเมืองจุดหมายปลายทางสำหรับจัดประชุมจากความต้องการของผู้จัดประชุมประเภท ต่างๆ ประกอบด้วย 6 กลุ่มปัจจัย 38 ตัวแปร ที่มีผลต่อความพร้อมในการเป็นเมืองจุดหมายปลายทางของการจัดประชุม ซึ่งผลจากการศึกษามีความสอดคล้องกับงานวิจัยในอดีตแต่มีลำดับความสำคัญที่ต่างกัน และพบตัวแปรใหม่ที่ได้จากงานวิจัยจำนวน 17 ตัวแปร งานวิจัยยังได้พัฒนาระบบประเมินความพร้อมของเมืองที่ตอบสนองความต้องการของผู้จัดงานจากเกณฑ์ทั้ง 6 ด้าน และผู้วิจัยได้ทดสอบระบบประเมินกับจังหวัดต้นแบบที่เป็นเมืองศักยภาพด้านการจัดประชุมในแต่ละภูมิภาค รวม 6 จังหวัด โดยผลการประเมินการยอมรับใช้เครื่องมือประเมินอยู่ในระดับดีมาก
การนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วยวิธีการขายลิขสิทธิ์ของระบบเพื่อเป็นเครื่องมือการบริการภาครัฐแบบฟรีเมี่ยม (Freemium) คือการบริการของภาครัฐที่ให้เครื่องมือประเมินความพร้อมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ควบคู่กับการอบรมหลักสูตรผู้นำด้านการพัฒนาเมืองและการเรียนรู้ผ่าน e-learning ที่มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จากการวิเคราะห์การเงิน พบว่า ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 4.08 ปี โดยรายได้จากการลงทุนประกอบด้วย รายได้ของ สสปน (ผู้ซื้อลิขสิทธิ์) มีรายได้ 538,400 บาท ใน 5 ปี และคาดว่ามีผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ถึง 5,969,100 บาท จากการสนับสนุนให้เกิดการจัดประชุมจากการพัฒนาความพร้อมของเมือง