Abstract:
ระบบนิเวศป่าชายเลนนอกจากมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ยังช่วยรักษาเสถียรภาพของพื้นที่ชายฝั่งผ่านกระบวนการตกตะกอน การฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการปลูกป่าชายเลนจึงมีส่วนช่วยบรรเทาการ
กัดเซาะชายฝั่ง โครงสร้างพืชพรรณโดยเฉพาะส่วนของรากมีบทบาทต่อการตกตะกอนในป่าชายเลน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของลักษณะเชิงปริมาณของรากแสมขาว (Avicennia alba) ต่อการตกตะกอนตามระยะห่างจากชายฝั่งในแปลงปลูกป่าชายเลนบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ผลการศึกษาพบว่าลักษณะเชิงปริมาณของรากหายใจแบบ pneumatophore ของแสมขาวมีความผันแปรตามระยะห่างจากชายฝั่ง โดยความสูง ความหนาแน่น พื้นที่หน้าตัดรวม ปริมาตรรวม และพื้นที่ผิวรวมของรากหายใจมีค่าลดลงเมื่อระยะห่างจากชายฝั่งมากขึ้น ขณะที่พื้นที่หน้าตัดของลำต้นและความหนาแน่นของกล้าไม้มีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อระยะห่างจากชายฝั่งเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาอัตราการตกตะกอนพบว่าบริเวณแปลงปลูกป่าชายเลนมีค่ามากกว่าบริเวณหาดโคลนที่ไม่มีพืชปกคลุม และมีค่ามากที่ระยะ 50 และ 70 เมตรจากชายฝั่งทะเล (0.1231±0.02 และ 0.1114±0.04 กรัมต่อเซนติเมตรต่อวัน ตามลำดับ) นอกจากนี้พบว่าลักษณะเชิงปริมาณของรากหายใจแบบ pneumatophore (ได้แก่ ความสูง พื้นที่ผิวรวม และปริมาตรรวม) มีความสัมพันธ์เชิงลบกับอัตราการตกตะกอน กล่าวได้ว่าโครงสร้างพืชพรรณส่วนเหนือดินเพิ่มความปั่นป่วนของมวลน้ำ ทำให้ตะกอนขนาดเล็กแขวนลอยนานขึ้นและถูกพัดพาไปด้านในของแปลงปลูก ส่วนรากใต้ดินโดยเฉพาะรากฝอยมีความหนาแน่นมากในบริเวณที่ห่างจากชายฝั่งและมีสหสัมพันธ์เชิงบวกกับสัดส่วนโคลน (อนุภาคดินเหนียวรวมกับทรายแป้ง) แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการยึดจับตะกอนของรากฝอย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงของพื้นที่สุทธิในแปลงปลูกที่มีค่าเป็นบวกและผันแปรอยู่ในช่วงแคบกว่าบริเวณหาดโคลน นั่นคือมีการสะสมของตะกอนในพื้นที่แปลงปลูก แต่เกิดการกัดเซาะบริเวณหาดโคลนเนื่องจากมีค่าสุทธิเป็นลบ จึงสรุปได้ว่าลักษณะเชิงปริมาณของรากหายใจแบบ pneumatophore และรากใต้ดินของ
แสมขาวมีอิทธิพลต่อการตกตะกอนในแปลงปลูกป่าชายเลนบางปู โดยทำหน้าที่ร่วมกับลำต้นและกล้าไม้ช่วยส่งเสริมการสะสมของตะกอน เกิดเสถียรภาพของตะกอนให้คงอยู่ในพื้นที่ป่า แปลงปลูกป่าชายเลนจึงช่วยบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่ง
ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งความสามารถในการสะสมตะกอนนี้ยังใช้เป็นดัชนีชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการปลูกฟื้นฟู
ป่าชายเลนในแง่ของนิเวศบริการได้อีกด้วย