Abstract:
น้ำเสียจากโรงพยาบาลมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกและยาตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาตกค้างในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ งานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลบริเวณ น้ำเข้าระบบ บ่อเติมอากาศ บ่อตกตะกอน บ่อเติมคลอรีน และน้ำทิ้ง ในช่วงวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์ 4 ช่วงเวลา ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2565 เพื่อศึกษาความแตกต่างของปริมาณลักษณะของไมโครพลาสติก และยาตกค้างกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ในน้ำทิ้งและบนพื้นผิวไมโครพลาสติก รวมทั้งประเมินความเสี่ยงต่อระบบนิเวศของไมโครพลาสติกและยาตกค้างที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาความเข้มข้นใน น้ำเสีย น้ำทิ้ง ตะกอน และประสิทธิภาพการบำบัดช่วงวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์มีค่าอยู่ในช่วง 125±1.89-133±8.54 ชิ้น/ลิตร 32±3.10-34±3.11 ชิ้น/ลิตร 4,007±244.63-4,371±246.70 ชิ้น/กิโลกรัม น้ำหนักแห้ง และ 73.85%-74.11% ตามลำดับ ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ในน้ำทิ้งและตะกอนเป็นไมโครพลาสติกชนิดเส้นใย สีดำ ขนาดในช่วง 20-100 ไมครอน และเป็นพอลิเมอร์ชนิดพอลิเอไมด์ การปนเปื้อนยาต้านการอักเสบทั้งสามชนิด ได้แก่ Ibuprofen Naproxen และ Diclofenac ในน้ำทิ้ง อยู่ในช่วง 1.97-2 µg/l, 0.25-0.51 µg/l และ 1.74-1.76 µg/l ตามลำดับ ประสิทธิภาพการบำบัด Ibuprofen Naproxen และ Diclofenac ช่วงวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์มีค่าอยู่ในช่วง 57.08%- 61.22%, 80.23%- 85.08% และ 55.88%- 62.17% ตามลำดับ ปริมาณยาต้านการเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์บนพื้นผิวไมโครพลาสติกอยู่ในช่วง 1.66-1.68 µg/l, 0.05-0.07 µg/l และ 1.22-1.23 µg/l ตามลำดับ การประเมินความเสี่ยงอันตรายของพอลิเมอร์ (H index) ศักยภาพในการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศของ(PER) ของไมโครพลาสติกอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง และสัดส่วนความเสี่ยงอันตราย (HQ) ของ Diclofenac เกิดความเสี่ยงสูงต่อสัตว์น้ำหลายชนิด