Abstract:
ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมเป็นมลภาวะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทั่วโลก และแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกในทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชนเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งและจากแม่น้ำที่ไหลผ่านชุมชน แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทยที่ไหลผ่านตัวเมืองกรุงเทพมหานครและไหลสู่อ่าวไทย ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ 8 แห่ง ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มาของไมโคร-พลาสติกที่สะสมในสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้ได้ศึกษาไมโครพลาสติกในน้ำเข้าสู่ระบบและน้ำออกจากระบบของ
โรงควบคุมคุณภาพน้ำของกรุงเทพมหานครทั้ง 8 แห่ง ที่มีกระบวนการบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง โดยเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 และไมโครพลาสติกที่พบในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในฤดูน้ำหลาก (พฤศจิกายน 2564) และฤดูแล้ง (เมษายน 2565) ผลการศึกษาพบปริมาณไมโครพลาสติกเฉลี่ยในน้ำเข้าสู่ระบบและน้ำออกจากระบบ 933±1,102–6,733±5,096 และ 433±321–4,800±1,300 ชิ้น/ลบ.ม. ตามลำดับ ไมโครพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครที่พบใน
ฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง มีปริมาณตั้งแต่ 30–400 และ 70–270 ชิ้น/ลบ.ม. และไมโครพลาสติกบริเวณ
ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตามรอบน้ำขึ้นน้ำลง ในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง มีปริมาณตั้งแต่ 40–390 และ 60–400 ชิ้น/ลบ.ม. ตามลำดับ ส่วนใหญ่พบเส้นใย สีน้ำเงิน ชนิดพอลิโพรพิลีน (PP) และมีขนาดอยู่ในช่วง 20–250 ไมครอน ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและส่งผ่านมายังมนุษย์ได้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า
ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงควบคุมคุณภาพน้ำและแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา
ขยะไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน