Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลกระทบด้านความต้องการพลังงานของอาคารที่ออกแบบตามเกณฑ์อาคารที่มีสุขภาวะที่ดีโดยสถาบันอาคารเขียวไทยมีชื่อเกณฑ์”เป็นสุข” โดยการวิจัยนี้นำข้อมูลการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งอาคารกรณีศึกษาแบบปกติและอาคารกรณีศึกษาที่ปรับแบบให้สอดคล้องตามเกณฑ์เป็นสุข นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยการใช้โปรแกรม Building Energy Code (BEC) Web-based ผลการศึกษาพบว่า อาคารกรณีศึกษาแบบปกติที่ใช้เป็นแบบอ้างอิงมีผลการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ ทั้งแบบการประเมินรายระบบและการใช้พลังงานโดยรวม ส่วนกรณีอาคารเป็นสุขแบบที่ 1 ผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯเฉพาะการใช้พลังงานโดยรวม แต่ระบบกรอบอาคารไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินรายระบบ โดยที่ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังในส่วนที่มีการปรับอากาศ (OTTV) เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 13.86% เนื่องจากความต้องการของอาคารตามเกณฑ์เป็นสุข คือ การมีช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีกระจกหน้าต่างที่สว่างมากขึ้นเพื่อให้ได้รับแสงสว่างธรรมชาติที่มากขึ้น จึงนำความร้อนเข้าสู่ภายในอาคารผ่านกระจกหน้าต่างด้านนอกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้ใช้กระจกกรอบอาคารประสิทธิภาพสูง แต่สำหรับค่าการใช้พลังงานโดยรวมของอาคารพบว่าอาคารเป็นสุขแบบที่ 1 ยังสามารถผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ เนื่องจากการประหยัดพลังงานจากการใช้ไฟฟ้าแสงสว่าง สำหรับอาคารเป็นสุขแบบที่ 2 ผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ ทั้งแบบการประเมินรายระบบและการใช้พลังงานโดยรวม