Abstract:
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกอภิปรายว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนต่อการเกิดอุบัติการณ์ภัยธรรมชาติ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกมิติของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวนับเป็นพื้นที่ที่ถูกคุกคามมากที่สุดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทบาทของรัฐบาลจึงมีความสำคัญในการลดความสูญเสียที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการยกระดับความสามารถในการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นต่อภัยธรรมชาติ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือการประเมินผลกระทบของภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เพาะปลูกข้าว และประเมินความพร้อมของรัฐบาลระดับท้องถิ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอันตรายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคัดเลือก เกาะลมบก ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะเล็กๆ และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระเบียบวิธิวิจัยของการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ การประยุกต์ใช้กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (Analytical Hierarchy Process: AHP) ร่วมกับระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (GIS) ในการประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งจากผลกระทบจากอุทกภัย ภัยแล้ง และดินถล่ม ขณะเดียวกัน การศึกษานี้อาศัยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ (n=15) เพื่อประเมินความพร้อมของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาศัยการสัมภาษณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านการเพาะปลูก การจัดการภัยพิบัติ และการจัดการน้ำ โดยผลการวิจัยพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 88.18 ของเกาะลมบกมีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระดับปานกลาง และ พื้นที่เพาะปลูกข้าวเกือบทั้งหมดร้อยละ 96.56 มีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระดับปานกลางเช่นกัน ผลการสัมภาษณ์พบว่า ความพร้อมของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการกับภัยอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะประเด็นด้านงบประมาณและทรัพยากรบุคคล โดยผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินกิจกรรมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างๆ และเป็นกลยุทธ์ในการคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เพาะปลูกข้าวของเกาะลมบก ประเทศอินโดนีเซียต่อไป.