Abstract:
“สารอะซีแมนแนน” เป็นสารสกัดจากส่วนวุ้นว่านหางจระเข้ ที่มีผลทางชีวภาพที่ดีกับเซลล์ แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลของสารอะซีแมนแนนต่อการสร้างเนื้อฟันยังไม่มีการศึกษามาก่อน ในการศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อ ศึกษาผลของสารอะซีแมนแนนต่อการสร้างเนื้อฟันในระดับห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง นำเซลล์โพรงฟันมนุษย์ทดสอบด้วยสารอะซีแมนแนนด้วยวิธีเอ็มทีที อีไลซา วิธีทางชีวเคมี และการย้อมสีอะลิซาริน เรด เพื่อตรวจสอบความเป็นพิษ การสังเคราะห์ดีเอ็นเอระดับการหลั่งโปรตีนโบนมอร์โฟเจเนติก-2 การทำงานของเอ็นไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส และการตกตะกอนเกลือแร่ ตามลำดับ จากนั้นทดสอบผลต่อการสร้างเนื้อฟันซ่อมเสริมในฟันกรามหนูแรทที่โพรงฟันถูกทำให้ทะลุ เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 7 และ 28 วัน หนูจะถูกทำการุญฆาตและนำฟันมาศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาและให้คะแนนเกี่ยวกับการตอบสนองของเนื้อเยื่อโพรงฟัน ได้แก่ การอักเสบ การสร้างเดนทินบริดจ์ และการจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่ออ่อน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวสำหรับข้อมูลที่อยู่ในสเกลอัตราส่วน และทดสอบด้วยวิธีครัสคัล วาลิส เอส สำหรับข้อมูลที่อยู่ในสเกลอันดับผลการศึกษา พบสารอะซีแมนแนนกระตุ้นการเพิ่มจำนวนเซลล์เมื่อทดสอบเป็นเวลา 24 ชั่วโมง กระตุ้นการหลั่งโปรตีนโบนมอร์-โฟเจเนติก-2 ที่ระยะเวลา 3 9 และ 12 วัน เพิ่มการทำงานของเอ็นไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส ที่ระยะเวลา 3 วัน และกระตุ้นการตกตะกอนเกลือแร่ที่ระยะเวลา 15 วัน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05) จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ที่ระยะเวลา 7 วัน กลุ่มอะซี-แมนแนน (5 ใน 7 ซี่ หรือร้อยละ 71.4) และกลุ่มหลอก (ฟูจิไลนิงแอลซี 4 ใน 6 ซี่ หรือร้อยละ 66.7) โดยมากพบการอักเสบเฉียบพลันอย่างอ่อน ในขณะที่กลุ่มควบคุม (ไดแคล) โดยมากพบการอักเสบระดับปานกลาง (4 ใน 8 ซี่ หรือร้อยละ 50) แต่อย่างไรก็ตาม การอักเสบของทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) กลุ่มอะซีแมนแนนพบเซลล์โพรงฟันในระยะกัมมันต์และพบเส้นใยคอลลาเจนในบริเวณเนื้อเยื่อโพรงฟันที่ทะลุสำหรับที่ระยะเวลา 28 วัน กลุ่มอะซีแมนแนนพบการสร้างเดนทินบริดจ์ปิดสมบูรณ์ชนิดเนื้อเยื่อแข็งที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน (5 ใน 8 ซี่ หรือร้อยละ 62.5) และการจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่อโพรงฟันแบบปกติ (4 ใน 8 ซี่หรือร้อยละ 50) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ไม่พบในกลุ่มควบคุม (0 ใน 8 ซี่) และกลุ่มหลอก (0 ใน 7 ซี่) (p<0.05) ในกลุ่มอะซีแมนแนน โดยมากไม่พบการอักเสบ (5 ใน 8 ซี่หรือร้อยละ 62.5) ส่วนกลุ่มควบคุมพบการอักเสบส่วนใหญ่แบบเรื้อรังความรุนแรงปานกลาง (5 ใน 8 ซี่ หรือร้อยละ 62.5) และกลุ่มหลอกพบการอักเสบส่วนใหญ่เป็นแบบเรื้อรังที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก (4 ใน 7 ซี่ หรือร้อยละ 57.1) อย่างไรก็ตาม การอักเสบของทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) จากผลการทดลองเสนอแนะว่า สารอะซีแมนแนนสามารถกระตุ้นการสร้างเนื้อฟัน โดยผ่านกลไกการเพิ่มจำนวนเซลล์ การเปลี่ยนสภาพเซลล์ การสร้างสารเมทริกซ์นอกเซลล์ และการตกตะกอนเกลือแร่ นอกจากนี้ สารอะซีแมนแนนสามารถเร่งการสร้างเนื้อฟันปิดแบบสมบูรณ์ และส่งเสริมการจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่ออ่อนให้กลับสู่สภาพปกติ