Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของส้มโชกุนอำเภอเบตงเพื่อหาโอกาสในการยกระดับโซ่คุณค่า โดยอำเภอเบตงเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีส้มโชกุนเป็นหนึ่งในพืชเอกลักษณ์ถิ่นในพื้นที่และอยู่ระหว่างการดำเนินการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical indication : GI) ซึ่งการวิจัยนี้ใช้การรวบรวมข้อมูลจากการสุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ผ่านการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอันได้แก่ เกษตรกร ผู้รวบรวม ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ข้อมูลที่รวบรวมมาได้จะใช้ในการวิเคราะห์รายได้และต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าประกอบกับการวิเคราะห์ SWOT เพื่อระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่า จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ TOWS เพื่อระบุทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่า กลยุทธ์เพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าได้แก่ 1) เกษตรกรจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน 2) เกษตรกรนำหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาใช้ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ 3) จัดตั้งช่องทางการขายตรงเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค 4 ) รัฐบาลส่งเสริมความร่วมมือของเกษตรกรรายย่อยเพื่อทำการเกษตรแบบเกษตรกรรายใหญ่ และ 5) สร้างโปรแกรมการศึกษาออนไลน์เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกของเกษตรกรต่อไป