Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการการระบบการจองระวางเรืออิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล 2. เพื่อศึกษาปัญหาที่พบจากการใช้บริการการระบบการจองระวางเรืออิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล 3.เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้การให้บริการระบบการจองระวางเรืออิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน โดยการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่ทำการส่งออกสินค้าทางเรือในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศไทยออกไปต่างประเทศจำนวน 340 ราย และการวิจัยเชิงคุณภาพใช้แบบสัมภาษณ์ในเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 5 ราย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ การวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยการยอมรับเทคโนโลยี ได้แก่ การรับรู้ความง่ายในการใช้งาน และสภาพแวดล้อมภายนอกมีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการการจองระวางเรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Beta = .581) มีความสำคัญต่อการเลือกใช้บริการการจองระวางเรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการรับรู้ความง่ายในการใช้งาน (Beta = .441) นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการใช้บริการการจองระวางเรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล ได้แก่ ความไม่เสถียรของระบบ ความไม่คุ้นเคยกับระบบ ระบบขาดความยืดหยุ่นการเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ไม่สะดวก บริษัทสายเรือแต่ละแห่งใช้ระบบที่ไม่เหมือนกัน ระบบข้อมูลแตกต่างกัน ความล่าช้าในการตอบรับการจอง การจองไม่เป็นไปตามที่ต้องการ มีข้อจำกัดในการส่งข้อมูลและการเรียกดูข้อมูลย้อนหลัง กระบวนการด้านข้อมูลเอกสารการขนส่งระหว่างประเทศ และการให้บริการดำเนินการจัดการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ การพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องหรือการโฆษณาผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ลูกค้าหันมาเลือกใช้บริการ ตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนเส้นทางบริการระดับปฏิบัติการในอุตสาหกรรมการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการให้บริการ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาการให้บริการประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น