Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 2) สร้างตัวชี้วัดการประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3) พัฒนาและทดสอบนวัตกรรมระบบการสนับสนุนการตัดสินใจการประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) ศึกษาการยอมรับการใช้งานของนวัตกรรมระบบการประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ 5) ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชยกรรมของนวัตกรรมระบบการประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและสัมภาษณ์เชิงลึก จากนั้นพัฒนาเครื่องมือวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อสร้างตัวชี้วัดการประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ AMOS นำข้อมูลองค์ประกอบที่ได้ไปสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาค่าน้ำหนักของเกณฑ์และตัวชี้วัดของกรอบในการประเมิน ด้วยกระบวนการการตัดสินใจแบบพิจารณาหลายเกณฑ์ วิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มตามระดับศักยภาพด้วยเทคนิคการวิเคราะห์กลุ่ม ตรวจสอบความความตรงภายในและภายนอกของตัวแบบนวัตกรรม ศึกษาความต้องการและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม นำต้นแบบนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบการยอมรับการใช้งาน และจัดทำแผนธุรกิจเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชยกรรม ผลการวิจัยพบว่า
1) ปัจจัยการประเมินศักยภาพของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ ได้แก่ สภาพแวดล้อมของจุดหมายปลายทาง นโยบายของพื้นที่และกลยุทธ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถเพื่อการรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นและวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลยุทธ์และโครงสร้างการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ ศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม และการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งร่วมกันและการทำการตลาดเชิงรุก โดยทั้งหมดนี้ประกอบด้วยตัวชี้วัด จำนวน 41 ตัวชี้วัด 2) ผลการสร้างตัวชี้วัดการประเมินศักยภาพของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างจากการทดสอบความสอดคล้องของตัวแบบองค์ประกอบหลักและตัวชี้วัดในการประเมินศักยภาพของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่พัฒนาขึ้น พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 3) ผลจากการวิเคราะห์กลุ่มที่มีศักยภาพต่างกันด้วยเทคนิค K-means Cluster Analysis พบว่า สามารถจำแนกกลุ่มที่มีความแตกต่างกันได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีระดับศักยภาพสูง ศักยภาพปานกลาง และศักยภาพต่ำ ซึ่งผลจากการทดสอบความตรงภายในและความตรงภายนอกของตัวแบบการประเมินศักยภาพจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้พัฒนาขึ้น แสดงให้เห็นว่าตัวแบบการประเมินมีความตรงทั้งภายในและภายนอก และมีความแม่นยำของประสิทธิภาพในการทำนาย สามารถเชื่อถือได้ และมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ผลจากการสนทนากลุ่มและการตอบแบบสอบถามถึงความเหมาะสมในการออกแบบต้นแบบแนวคิดนวัตกรรมระบบการสนับสนุนการตัดสินใจการประเมินศักยภาพของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่า ฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของต้นแบบนวัตกรรมระบบนี้ มีความเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นนวัตกรรมระบบการสนับสนุนการตัดสินใจการประเมินศักยภาพของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) ผลการทดสอบการยอมรับการใช้งานของนวัตกรรมนี้ พบว่า มีความพร้อมและได้รับการยอมรับการใช้งานอยู่ในระดับมาก และ 5) ผลจากการจัดทำแผนธุรกิจนวัตกรรมระบบประเมินจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ การผลิตและการดำเนินธุรกิจของนวัตกรรมนี้ มีความเหมาะสมในการลงทุนและมีความเป็นไปได้ในการนำออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ ด้วยแนวทางการอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียว และได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยใช้เงินลงทุน 660,000 บาท มีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุน เท่ากับ 82.21% ใช้ระยะเวลาคืนทุน 1.43 ปี