Abstract:
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง และเพื่อจัดทำแนวทางในการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง โดยกรณีศึกษาน้ำพางโมเดล จังหวัดน่าน เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่มีการขับเคลื่อนการลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดการเผาเศษซากวัสดุทางการเกษตร และลด PM 2.5 และช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินของตนได้ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการน้ำพางโมเดล และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการน้ำพางโมเดลรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 คน โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ด้วยวิธีสัมภาษณ์แบบเจาะลึกรายบุคคล
ผลการวิจัยได้ถูกวิเคราะห์และสรุปออกมาเป็น 5 กระบวนการ ประกอบด้วย 1)กระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยการจัดตั้งเวทีเพื่อพูดคุยให้ตระหนักถึงปัญหาและคิดหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน จากนั้นจึงเกิดเป็น 2)กระบวนการรวมกลุ่มน้ำพางโมเดล เพื่อความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนชุมชนและการรักษาผืนป่า เช่น การเข้าร่วมโครงการและการตั้งวิสาหกิจชุมชน 3)กระบวนการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร โดยการจัดอบรมเพื่อพัฒนาและต่อยอดความรู้ด้านการเกษตร 4)กระบวนการร่วมกันสร้างระบบนิเวศป่าคือ การรักษาผืนป่าผ่านกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า ทำแนวกันไฟ เป็นต้น และ 5)การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ทั้งในด้านเงินทุน ความรู้ รวมถึงกล้าพันธุ์ไม้ เพื่อให้โครงการน้ำพางโมเดลดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการศึกษาแนวทางการลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูงผู้วิจัยได้วิเคราะห์และสรุปแนวทาง ประกอบด้วย 1) การระดมความคิดของเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2) การสร้างความเชื่อมั่น 3) การประกอบอาชีพเสริม 4) การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก 5) การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน 6) การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต โดยความยั่งยืนของโครงการสะท้อนผ่านความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างอย่างยืนเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกินควบคู่กับการรักษาผืนป่าให้คงอยู่สืบไป