Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ชี้ให้เห็นถึงชีวิตและพลวัตการทำงานของลูกจ้างทำงานบ้านหญิงก่อนและระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 2) ค้นหาความหมายของงานที่มีคุณค่าในยุคปกติใหม่ และ 3) ศึกษาแนวทางการพัฒนางานที่มีคุณค่าของลูกจ้างทำงานบ้านหญิง ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ลูกจ้างทำงานบ้านหญิงในกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 ราย นายจ้าง 3 ราย และนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐ 3 ราย
ผลการศึกษาพบว่า 1) ชีวิตและพลวัตการทำงานของลูกจ้างทำงานบ้านก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ลูกจ้างทำงานบ้านหลายรายเริ่มเข้ามาประกอบอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนต้นซึ่งมีระดับการศึกษาที่ไม่สูงมากนัก อีกทั้งมีปัญหาสะสมจากการทำงานในอาชีพดังกล่าว เช่น ไม่มีสัญญาการจ้างงาน ค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับภาระงานและชั่วโมงการทำงาน และการขาดสวัสดิการในการทำงาน ด้านรูปแบบการทำงานจำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ ทำงานประจำกับนายจ้างเพียงคนเดียว ทำงานแบบครั้งคราวโดยมีนายจ้างหลายคน เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกจ้างทำงานบ้านประสบกับสภาวะความยากลำบากที่มากยิ่งขึ้น ทั้งจากการทำงานที่หนักกว่าปกติ การถูกลดค่าจ้าง/เงินเดือน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทางและอุปกรณ์ป้องกันโรค รวมทั้งต้องบริหารจัดการเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายให้สมาชิกในครอบครัวที่สูญเสียรายได้หรือถูกเลิกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าว จนส่งผลให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ในขณะที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับ เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นเพียงแค่การช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้บ้างในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่ไม่มีมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพนี้โดยตรงในการทำงาน 2) การให้ความหมายต่องานที่มีคุณค่า พบว่า ลูกจ้างทำงานบ้าน นายจ้าง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เป็นงานที่สามารถตอบสนองต่อการดำรงชีวิตหรือความต้องการในชีวิตของแรงงานได้ 3) แนวทางการพัฒนางานที่มีคุณค่าของลูกจ้างทำงานบ้านหญิง พบว่า ความต้องการสูงสุดของลูกจ้างทำงานบ้าน คือ การหลักประกันทางสังคมที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแรงงานที่มีนายจ้างอื่น ๆ รวมถึงการได้รับการคุ้มครองแรงงานตาม อนุสัญญาฉบับที่ 189 และข้อแนะฉบับที่ 201 เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการทำงาน