Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนการใช้หญ้าแฝกแก้ปัญหาดินดานเพื่อทำการเกษตร และเสนอแนวทางในการรณรงค์ส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกแก้ปัญหาดินดานเพื่อทำการเกษตร ดำเนินการศึกษาโดยใช้เทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและรวบรวมข้อมูล พิจารณาคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive random) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนการใช้หญ้าแฝก คือ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 ท่าน และเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี 1 ท่าน 2) กลุ่มภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คือ เครือข่ายคนรักษ์แฝก 3 ท่าน และ 3) กลุ่มอาชีพเกษตร ในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายในการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยี 8 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) และการตีความ (interpretation) ตามกรอบการวิจัยเชิงย้อนรอย (Expost facto research) โดยวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of change) ในลักษณะการพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า การที่กลุ่มเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกแก้ปัญหาดินดานเพื่อทำการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ จุดเริ่มต้นมาจากการมีบทบาทผู้นำ (Actors) ในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน กล่าวคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี และภาคีเครือข่ายคนรักษ์แฝก สร้างความร่วมมือกันในลักษณะเครือข่ายเพื่อกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน (Activity) ที่เน้นหนักในด้านการสนับสนุน (Input) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง คือ 1) กลยุทธ์การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้หญ้าแฝกแก้ปัญหาดินดาน 2) กลยุทธ์การแจกจ่ายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก 3) กลยุทธ์การติดตามประเมินผล และ 4) กลยุทธ์การบริหารจัดการ ซึ่งบทบาทผู้นำ (Actors) และกลยุทธ์การดำเนินงาน (Activity) เปรียบเสมือนตัวแปรสำคัญที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรและนำหญ้าแฝกไปใช้แก้ปัญหาดินดานในพื้นที่ เกิดผลการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากการใช้หญ้าแฝกใน 3 มิติ คือ 1) ในแง่ของ Output คือ ดินดานลดน้อยลง พืชให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2) ในแง่ของ Outcome คือ กลุ่มเกษตรกรยอมรับหญ้าแฝก ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน Goal 15: Life on Land สามารถเป็นเกษตรกรตัวอย่างให้แก่บุคคลรอบข้างได้ และ 3) ในแง่ของผลกระทบทั้งในระยะสั้น (Primary impact) และผลกระทบระยะยาว (Secondary impact) คือ กลุ่มเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายหลังจากการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง