Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนากรอบการวัดสมรรถนะและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในการวัดผลการดำเนินงานของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพร เพื่อจัดลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพรในประเทศไทย โดยทำการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในบริษัทที่ผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพรในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามเรื่องตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพรที่ใช้ตัวเลือกตอบเป็นมาตรส่วนประมาณค่าแบบลิเคิร์ต 4 ระดับ และ 2) แบบสอบถามการประเมินตัวชี้วัดที่สำคัญและเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพรด้วยวิธีกระบวนการวิเคราะห์เชิงลำดับชั้น (Analytic Hierarchy Process, AHP) ที่ใช้มุมมองตามหลัก Balanced Scorecard (BSC) 4 มุมมองประกอบกับเพิ่มมุมมองในด้านคุณภาพของยารวมด้วย ผลการวิจัยพบว่าตัวชี้วัดที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุดและควรนำมาเป็นตัวชี้วัดอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพรตามกรอบการวัดสมรรถนะ แต่ละมุมมอง มีดังนี้ 1.มุมมองด้านการเงิน คือ ต้นทุนการจัดการโซ่อุปทานทั้งหมดและต้นทุนรวมสินค้าต่อหน่วย 2.มุมมองด้านลูกค้า คือ ความพึงพอใจของลูกค้าด้านคุณภาพของสินค้า 3.มุมมองด้านกระบวนการภายใน คือ ประสิทธิภาพการผลิต 4.มุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ 1) มีนโยบายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมหรือมีการร่วมมือระหว่างโรงงานและหน่วยงานอื่น 2) ด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน และ 3) ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบยาให้เหมาะสม และ 5.มุมมองด้านคุณภาพของยา คือ ความปลอดภัยของยา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญให้มุมมองด้านคุณภาพของยาเป็นกรอบการวัดสมรรถนะที่มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือมุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต สำหรับการจัดลำดับตัวชี้วัดที่มีความสำคัญมากที่สุดใน 5 อันดับแรกในการศึกษานี้ ได้แก่ ความปลอดภัยของยา ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษา การพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย และเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานตามลำดับ ซึ่งผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ากรอบการวัดสมรรถนะและตัวชี้วัดในมุมมองด้านคุณภาพของยาควรนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณและสมุนไพร