Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ถอดบทเรียนชุมชนปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก 2)วิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนปลอดภัยในการเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก และ3)สังเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนปลอดภัยในการเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)ผ่านการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก ชุมชนกรณีตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานชุมชนปลอดภัยและได้รับรองให้เป็น“ชุมชนปลอดภัยระดับสากล”ขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ ชุมชนวังทรายพูนอ.วังทรายพูนจ.พิจิตร ชุมชนตลาดเกรียบอ.บางปะอินจ.พระนครศรีอยุธยาและชุมชนเมืองน่านอ.เมืองจ.น่าน จำนวน 24 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง ผลการศึกษาวิจัยพบแบบแผนปฏิบัติที่เอื้อต่อความสำเร็จในการดำเนินงานของชุมชน คือ การมีผู้นำที่เข้มแข็งมีรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และมีรูปแบบการบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการสนับสนุนการดำเนินงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง องค์ประกอบของกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนปลอดภัยในการเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก องค์ประกอบ 1)ภาวะผู้นำ เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญและมีเป้าหมายร่วมในการทำงานเพื่อความปลอดภัยของเด็กในชุมชน 2)การสื่อสาร ใช้รูปแบบในการติดต่อสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ตกลงร่วมกัน เน้นการสื่อสารสองทาง ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 3)การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวและเกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้าใจและรับรู้ถึงความสำคัญของปัญหานั้น 4)การเรียนรู้จากการสังเกต ชุมชนมีการเรียนรู้จากการสังเกตทั้งตัวแบบที่ดีและไม่ดี 5)การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยการรวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสรุปบทเรียน และร่วมรับผลจากการกระทำ 6)เครือข่าย ทั้งเครือข่ายภายในและภายนอกชุมชน เครือข่ายที่เป็นทั้งภาครัฐและเอกชน 7)การทำงานเป็นทีม โดยยึดระเบียบข้อบังคับที่ชุมชนร่วมตั้งขึ้นมา ให้ทั้งคนทำงานและคนในชุมชนปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน 8)การจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยทุกคนสามารถทำงานและปฏิบัติตามแนวทางที่ชุมชนวางร่วมกันไว้ เป็นการทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจน เน้นการทำงานอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ และ 9)การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ด้วยหลักการ “เข้าถึง เข้าใจและพัฒนา”เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาครัฐภาคเอกชน อปท. ชุมชนและครอบครัว ล้วนเป็นผู้กระทำการที่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันที่จะทำให้เกิดเป็นชุมชนปลอดภัยในเด็ก ภายใต้แบบแผนการปฏิบัติที่ดีของชุมชน โดยทุกคนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาชุมชนให้ปลอดภัยในเด็กร่วมกัน กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนปลอดภัยในการเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก ประกอบด้วย 1)การจัดตั้งกลุ่มบุคคลในชุมชนเพื่อศึกษาปัญหา ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บในเด็กและการ 2)การสำรวจสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง 3)เฝ้าระวังการบาดเจ็บ 4)ฝึกอบรมและให้ความรู้ในการป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก 5)ให้ความรู้เมื่อต้องเผชิญเหตุโดยการฝึกอบรมการปฐมพยาบาล การปฏิบัติการกู้ชีพเบื้องต้น และการสนับสนุนการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยต่างๆ และ6)สร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในเด็ก