Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการใช้ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการใช้ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ และ 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการใช้ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ กลุ่มเป้าหมายคือผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ระยะเวลาดำเนินการทดลอง 10 สัปดาห์ การดำเนินการวิจัยเป็นกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่เป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดการใช้ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อใช้ในการเสริมสร้างสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ และแบบสังเกตพฤติกรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการใช้ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ มีหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การเสนอประเด็น สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่กำลังถกเถียงหรือสังคมให้ความสนใจ ใกล้ตัวผู้เรียน และเน้นทางวิทยาศาสตร์ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ 2) การมีส่วนร่วมในเรียนรู้จากการสืบเสาะหาความรู้ การอธิบาย การ-โต้แย้ง และแสดงเหตุผลเพื่อยืนยันความคิดของตนเองผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนเกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและพัฒนาทักษะการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการนำเสนอข้อมูล ทักษะการให้เหตุผล ทักษะการแปลความหมายข้อมูล ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะการแก้ปัญหา และ 3) การมุ่งเน้นกระบวนการที่ได้มาซึ่งข้อสรุปและหลักฐานที่ยืนยันข้อสรุปโดยมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์จะทำให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาหรือไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นเสนอประเด็น
ทางสังคม ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์ประเด็นปัญหา ขั้นที่ 3 ขั้นเสนอหลักฐานและให้เหตุผล ขั้นที่ 4 ขั้นลงข้อสรุป และขั้นที่ 5 ขั้นขยายความรู้
2. ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า 1) สมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนหลังทดลองสูงกว่า
เกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งในภาพรวมและในแต่ละองค์ประกอบของสมรรถนะ
ทางวิทยาศาสตร์ 2) สมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .05 ทั้งในภาพรวมและในแต่ละองค์ประกอบของสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ และ 3) ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลง
ของสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ทั้งในภาพรวมและในแต่ละองค์ประกอบของสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงช่วงหลังของการทดลอง