Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพความเป็นจริง สภาพที่คาดหวังของและความต้องการจำเป็นในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนประถมศึกษาจากครูสอนภาษาไทย จำนวน 394 คน 2) พัฒนากิจกรรมการจัดการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนประถมศึกษา โดยสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน
3) ศึกษาผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนประถมศึกษา จากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 จำนวน 36 คน 4) นำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนประถมศึกษา โดยศึกษาความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน
ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพความเป็นจริงในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ฯ อยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้สอนมีการแสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่ รวมถึงการให้คำชมเชยและมีการเสริมแรง (M = 3.67) และสภาพที่คาดหวังที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นให้ผู้เรียนบูรณาการการอ่านและการเขียน (M = 3.78) ผลการจัดลำดับความต้องการจำเป็นในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ฯ ลำดับที่ 1 คือ ด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ (PNImodified= 0.44) ได้แก่ (1) ผู้สอนมีการใช้แอปพลิเคชันที่หลากหลายมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเขียน (2) ผู้สอนจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดึงดูดความสนใจทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานและมีความสุข (3) ผู้สอนจัดบรรยากาศที่ท้าทาย และทันสมัย
2) กิจกรรมการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีฯ ประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสนับสนุน ผู้เรียน ผู้สอน เนื้อหา ระบบการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล โดยมีขั้นตอน
7 ขั้นตอน คือ (1) แบ่งกลุ่มนักเรียน (2) ดำเนินกิจกรรมการอ่าน (3) อภิปรายเรื่องที่อ่าน (4) ทดสอบการอ่านเพื่อความเข้าใจ
(5) ฝึกทักษะการอ่านและแนวทางการเขียนเรื่อง (6) ดำเนินกิจกรรมการเขียน (7) การตรวจความรู้และความเข้าใจ
3) ผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนประถมศึกษา พบว่า คะแนนเฉลี่ยของทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) ผลการนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้แบบโมไบล์เลิร์นนิงร่วมกับเทคนิคซีไออาร์ซีฯ พบว่า ผลการประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ฯ อยู่ในระดับดีมาก