Abstract:
ความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแนวคิดของครูที่ยอมรับและยึดถือเกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติของความรู้ และลักษณะวิธีการเข้าถึงความรู้วิทยาศาสตร์ การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อ 1) พัฒนาแบบวัดความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิสิตศึกษาครู 2) วิเคราะห์และจัดประเภทของความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิสิตนักศึกษาครู 3) พัฒนาหลักการออกแบบ และสร้างต้นแบบวิธีการปรับความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิสิตนักศึกษาครูให้เหมาะสมกับประเภทของความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ 4) ตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำต้นแบบวิธีปรับความเชื่อไปปฏิบัติ ในขั้นแรกเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ประกอบด้วยการพัฒนาเครื่องมือวัด และวิเคราะห์ประเภทของความเชื่อโดยใช้การวิเคราะห์จัดกลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือแบบสอบถามที่พัฒนาขึ้น มีตัวอย่างวิจัย คือ นิสิตครูวิทยาศาสตร์ 4 วิชาเอก จำนวน 120 คน ขั้นตอนต่อมาเป็นการวิจัยการออกแบบ เพื่อพัฒนาหลักการออกแบบ และต้นแบบของวิธีการปรับความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิสิตนักศึกษาครู ผลการวิจัยมีดังนี้
1. แบบวัดความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิสิตศึกษาครู เป็นลักษณะแบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับ มีทั้งหมด 28 ข้อ ประกอบไปด้วย 4 มิติ ได้แก่ ความแน่นอนของความรู้ พัฒนาการความรู้ แหล่งความรู้ และ การให้เหตุผลเพื่อให้ได้ความรู้ มีตรงเชิงเนื้อหาจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ มีความเที่ยงในระดับที่เหมาะสม และมีความตรงเชิงโครงสร้างจากผลการตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลการวัดความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square (3, N =130) = 3.292, p = .348; CFI = .998 TLI = .997, RMSEA = .027, SRMR = .182)
2. การจัดประเภทของความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิสิตนักศึกษาครู ด้วยเทคนิค Hierarchical cluster analysis และ k- mean clustering สามารถแบ่งความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์เรียบง่าย 2) ความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์แบบยึดมั่นในความรู้และแหล่งความรู้ 3) ความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์ซับซ้อนแบบยึดมั่นในความรู้ 4) ความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์ซับซ้อนแบบยึดมั่นในผู้รู้
3. ผลการวิจัยเอกสารนำไปสู่การพัฒนาหลักการออกแบบประกอบไปด้วยข้ออ้างเชิงเหตุผล 3 ข้อ คือ 1) ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแนวคิด 2) การสะท้อนคิดความเชื่อชัดแจ้ง 3) การโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ และสามารถนำข้ออ้างเชิงเหตุผลมาสร้างเป็นแผนที่คาดการณ์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นต้นแบบวิธีการปรับความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกัน 4 ต้นแบบ คือ 1) ต้นแบบการปรับความเชื่อด้านของนิสิตประเภทความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์เรียบง่าย 2) ต้นแบบการปรับความเชื่อของนิสิตประเภทความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์แบบยึดมั่นในความรู้และแหล่งความรู้ 3) ต้นแบบการปรับความเชื่อของนิสิตประเภทความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์ซับซ้อนแบบยึดมั่นในความรู้ 4) ต้นแบบการปรับความเชื่อของนิสิตประเภทความเชื่อด้านความรู้วิทยาศาสตร์ซับซ้อนแบบยึดมั่นในผู้รู้
4. ต้นแบบวิธีการปรับความเชื่อด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้ต้นแบบมีความเหมาะสมมากขึ้น จึงได้ปรับปรุงต้นแบบตามข้อเสนอแนะเรื่องความเหมาะสมของต้นแบบ ได้ผลผลิตเป็น 1) ส่วนประกอบของการออกแบบในแผนที่คาดการณ์ปรับใหม่ 2) กรอบแนวทางออกแบบกิจกรรมปรับใหม่ และ 3) การปรับปรุงตัวอย่างกิจกรรม