Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์นโยบายการผลิตและพัฒนาครูภาษาอังกฤษของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2561 - 2565 2) วิเคราะห์งบประมาณ ทรัพยากร และการสนับสนุนอื่น ๆ ที่ใช้ในการขับเคลื่อนและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ 3) วิเคราะห์เครือข่ายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ 4) วิเคราะห์ระบบการกำกับติดตามการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยนำผลจากข้อ 1) - 4)
ไปออกแบบหน้ากระดานสรุปข้อมูล (dashboard) สำหรับใช้สนับสนุนการออกแบบและกำกับติดตามนโยบาย การวิจัยนี้ ใช้การวิเคราะห์เหมืองข้อความ (text mining) ร่วมกับการวิเคราะห์เอกสารและการวิเคราะห์เนื้อหา จากเอกสารนโยบายระดับชาติและเอกสารของหน่วยนโยบายและหน่วยปฏิบัติ 54 ฉบับ รวมถึงเอกสารงบประมาณ เพื่อวิเคราะห์จุดเน้นของนโยบายต่าง ๆ งบประมาณ และการกำกับติดตาม รวมทั้งใช้การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis: SNA) วิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเก็บข้อมูลผ่านแบบสำรวจ กลุ่มผู้ขับเคลื่อนนโยบาย จำนวน 713 คน กลุ่มครูภาษาอังกฤษจำนวน 1,368 คน รวมทั้งวิเคราะห์การนำนโยบายสู่การปฏิบัติและการกำกับติดตามในมุมองผู้ขับเคลื่อนนโยบายและครูภาษาอังกฤษ ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ อาทิ คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรี
การสัมภาษณ์ผู้บริหารใน สพฐ. ผู้บริหารโรงเรียน/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูภาษาอังกฤษ
ผลการวิเคราะห์จุดเน้นของนโยบายระดับชาติด้วยการวิเคราะห์ภาพก้อนเมฆกลุ่มคำ (word cloud) 726 คำ ในเอกสารนโยบาย ที่เกี่ยวข้อง 8 ฉบับ พบจุดเน้นร่วมกันในเรื่องการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนดิจิทัล ส่วนผลการวิเคราะห์ TF-IDF พบจุดแตกต่างระหว่างนโยบาย ในส่วนของนโยบายของหน่วยปฏิบัติพบความสอดคล้องระหว่างนโยบาย สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ค่อนข้างสูง ในการ ขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ยังกำหนดให้มีศูนย์พัฒนาบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ภายใต้ สพฐ. เป็นกลไก สำคัญ แต่พบว่าทั้งสองกลไกมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและขาดการกำหนดนโยบายเชิงรุกตามความต้องการของพื้นที่ สำหรับการสนับสนุน ด้านองค์ความรู้ พบว่า สื่อออนไลน์ เพื่อนครู ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญ (ค่า out-degree centrality เท่ากับ 556, 518, 301 และ 274 ตามลำดับ) นอกจากนี้ เครือข่ายของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา
มีโครงสร้างและคุณภาพความสัมพันธ์ของการสนับสนุนองค์ความรู้ที่ต่างกัน ในด้านงบประมาณ พบว่า มีงบเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครูภาษาอังกฤษในช่วงปี 2561 - 2565 รวมทั้งสิ้น 1,519.87 ล้านบาท จาก 363 โครงการ โดยในช่วงต้นเน้นการพัฒนาครูภาษาอังกฤษด้วยการอบรมระยะยาว ก่อนจะปรับการจัดสรรหลักไปที่การจัดหาอุปกรณ์/คอมพิวเตอร์ให้ศูนย์ HCEC และการจ้างครูต่างชาติ ในส่วนของการกำกับติดตามนโยบาย พบว่าแม้มีการกำกับติดตามการดำเนินงาน แต่เป็นการติดตามผลสัมฤทธิ์ที่เกิดในทางปฏิบัติไม่มากนัก อีกทั้งไม่มีระบบกำกับ
ติดตามที่จะสามารถประมวลผลตามเป้าหมายของแต่ละนโยบาย
ข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาความเข้มแข็งกลไกการเชื่อมประสานนโยบายในระดับชาติ การปรับกลไกการนำนโยบายสู่การปฏิบัติที่มีการวิเคราะห์ความต้องการในระดับพื้นที่และมีช่องทางการสนับสนุนงบประมาณที่ยืดหยุ่น การสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ควรพัฒนาระบบรายงานผลผ่านแพลตฟอร์มกลาง เพื่อให้การประมวลภาพรวมของประเทศและในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น