Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษากรอบแนวคิดของการบริหารวิชาการและกรอบแนวคิดทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม 2) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม 3) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธีพหุระยะ (Multi-Phase Mixed Method) ใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) และข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 262 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการหรือหัวหน้างานวิชาการ และครูผู้สอนชั้นมัธยมศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามและแบบประเมิน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น และการวิเคราะห์เนื้อหาจากการสนทนากลุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า 1) กรอบแนวคิดการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชน ประกอบด้วย 3 งาน คือ (1) การพัฒนาหลักสูตร (2) การจัดการเรียนรู้ และ (3) การวัดและประเมินผล กรอบแนวคิดทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม ประกอบด้วย 6 ทักษะ คือ (1) ทักษะการค้นหาและสร้างคุณค่า (2) ทักษะดิจิทัล (3) ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (4) ทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม (5) ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และ (6) ทักษะระหว่างบุคคล 2) สภาพปัจจุบันของการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยด้านการจัดการเรียนรู้ในทักษะดิจิทัลมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด สภาพที่พึงประสงค์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านการพัฒนาหลักสูตรในทักษะดิจิทัล และการจัดการเรียนรู้ในทักษะการค้นหาและสร้างคุณค่ามีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากัน ทั้งนี้ค่าดัชนีความต้องการจำเป็นของการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรมสูงที่สุด คือ ด้านการวัดและประเมินผลในทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ 3) กลยุทธ์การบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้ (1) พลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์รอง (2) พัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์รอง และ (3) ปรับเปลี่ยนการวัดและประเมินผลที่เสริมสร้างทักษะมนุษย์ในสังคมหลังนวัตกรรม ประกอบด้วย 1 กลยุทธ์รอง