Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของการใช้นวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้เพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์ทางศิลปะสำหรับนักเรียนประถมศึกษา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูลออกแบบและพัฒนานวัตกรรม โดยการเก็บข้อมูลจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ด้าน จำนวน 15 ท่าน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากล่องการเรียนรู้ 5 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกิจกรรมศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ 5 ท่าน และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนศิลปะระดับชั้นประถมศึกษา 5 ท่าน ระยะที่ 2 ศึกษาผลการใช้นวัตกรรม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียน
ชั้นประถมศึกษาตอนต้น จำนวน 26 คน และครูประถมศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ แบบสำรวจความพึงพอใจต่อกิจกรรมสำหรับนักเรียน และครูผู้สอน
แบบบันทึกการสนทนากลุ่มสำหรับนักเรียนแบบประเมินการสร้างสรรค์ผลงานจากผู้เรียน และแบบประเมินนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยการหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนานวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้เพื่อส่งเสริมทักษะ การสร้างสรรค์ทางศิลปะสำหรับนักเรียนประถมศึกษา มีหลักการคือ กล่องการเรียนรู้ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ 3 กล่องกิจกรรม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปะติด ภาพพิมพ์ และงานปั้น ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ที่อยู่ใกล้ตัวมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ พัฒนาการสร้างสรรค์จากกิจกรรมศิลปะและวัสดุเหลือใช้ สามารถเป็นตัวช่วยในการจัดการเรียนการสอนในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูศิลปะ แนวทางในการนำนวัตกรรมกล่องการเรียนไปปรับใช้ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ 1) การนำเข้าสู่บทเรียนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เช่น การใช้เกมส์ หรือเพลง 2) บทบาทของครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรมีการอธิบายขั้นตอนการใช้กล่องการเรียนรู้ให้ชัดเจน 3) ลักษณะการจัดการเรียนรู้เป็นการจัดกิจกรรมอย่างยืดหยุ่นปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียน
4) การวัดและการประเมินผลตามสภาพจริง โดยประเมินจากกระบวนการและสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ระหว่างการทำกิจกรรม ผลจากการประเมินความพึงพอใจต่อกิจกรรมกล่องการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา พบว่า ระดับความพึงพอใจทั้งหมดอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย =2.95) โดยสามารถเรียงลำดับตามด้านที่มีความพึงพอใจจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุดได้ ดังนี้
ด้านพัฒนาการของนักเรียน (ค่าเฉลี่ย =2.98) ด้านการสอนและกิจกรรมของกล่องการเรียนรู้ (ค่าเฉลี่ย =2.94) และด้านลักษณะของกล่องการเรียนรู้ (ค่าเฉลี่ย =2.94) ผลจากการสนทนากลุ่ม พบว่า ผู้เรียนชื่นชอบกิจกรรมศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ เพราะไม่สิ้นเปลืองเงินและเป็นการนำวัสดุเหลือใช้รอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานศิลปะ มีความสนุก และรู้สึกสนใจหากมีการนำกล่องการเรียนรู้มาปรับใช้กับการเรียนการสอน