Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพและความต้องการรูปแบบการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือนบนฐานการเเก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต 2) เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือนบนฐานการเเก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือนบนฐานการเเก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต ตัวอย่างวิจัยเป็นนักศึกษาปริญญาบัณฑิต ในการศึกษาสภาพและความต้องการ คือ นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากการคำนวณด้วยสูตรของ Cochran (1977) รวมจำนวน 416 คน จาก 3 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ 1) วิทยาศาสตร์สุขภาพ 2) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ 3) มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และตัวอย่างในการศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้ฯ คือ นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 40 คน เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพและความต้องการรูปแบบการเรียนรู้ฯ 2) รูปแบบการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือนบนฐานการเเก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต 3) แบบสัมภาษณ์สำหรับผู้เชี่ยวชาญโดยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 4) แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนรู้ฯ 5) แผนจัดการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือนบนฐานการเเก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต 6) แพลตฟอร์มความเป็นจริงเสมือน (VR platform) 7) เกณฑ์การประเมินแบบรูบริคความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต และ 8) แบบสอบถามความคิดเห็นต่อการเรียนรู้ฯ การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย 1) วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) วิเคราะห์สภาพและความต้องการด้วยการหาดัชนีลำดับความสำคัญของความต้องการจำเป็น (PNI Modified) และ 3) วิเคราะห์ความสามารถทางนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาบัณฑิตโดยใช้ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-Way Repeated Measure ANOVA)
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า
1. สภาพและความต้องการรูปแบบการเรียนรู้ฯ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือน (VR) 2) ด้านการเรียนรู้บนฐานการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ (CPS) และ 3) ด้านการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรม (IC) โดยด้านที่มีความต้องการมากอยู่ในด้านการเรียนรู้ในความเป็นจริงเสมือน ทั้งนี้นักศึกษาต้องได้รับประสบการณ์การใช้ความเป็นจริงเสมือนในการเรียนในรายวิชา (PNIModified=0.72) เป็นอันดับที่ 1
2. รูปแบบการเรียนรู้ฯ ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ผู้สอนและผู้ช่วยสอน 2) ผู้เรียน 3) กิจกรรมการเรียนโดยใช้กระบวนการเเก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ 4) ความเป็นจริงเสมือน และ 5) การประเมินผล และ 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การค้นหาข้อบกพร่อง ขั้นที่ 2 การระดมความคิดเพื่อสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 3 การระบุปัญหาและนำเสนออย่างชัดเจน ขั้นที่ 4 การค้นหาทางเลือกที่หลากหลายและแปลกใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหา ขั้นที่ 5 การพิจารณาคัดเลือกการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด และ ขั้นที่ 6 การจัดทำแผนและดำเนินการสร้างนวัตกรรมแบบจำลอง
3. ผลการใช้รูปแบบฯ พบว่าค่าเฉลี่ยของความสามารถทางนวัตกรรมจากการประเมินในครั้งที่ 1 ครั้งที่ 3 และ ครั้งที่ 5 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ และนักศึกษามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ถึง มากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 4.05 – 4.60