Abstract:
การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพและความต้องการในการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานฯ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน เพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนเตรียมทหาร ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาสภาพและความต้องการคือ นักเรียนเตรียมทหาร จำนวน 339 คน และตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองคือ นักเรียนเตรียมทหาร จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพและความต้องการในการเรียนฯ 2) รูปแบบการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานฯ 3) แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ 4) แบบประเมินรับรองรูปแบบการเรียนฯ 5) คอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกัน 6) แผนการจัดการเรียนรู้ 7) แบบประเมินสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ 8) เกณฑ์การประเมินสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์แบบรูบริค 9) แบบวัดเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ และ 10) แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนฯ โดยมีระยะเวลาในการทดลอง 5 สัปดาห์ การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ 1) ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นด้วยวิธี PNImodified 3) วิเคราะห์เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ด้วยการทดสอบที และ 4) วิเคราะห์สมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ด้วยความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ
ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้
(1) สภาพและความต้องการของผู้เรียนพบว่า ผู้เรียนมีความต้องการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาร่วมกับการใช้ซอฟต์แวร์ทางการศึกษาต่าง ๆ ในระหว่างการเรียนรู้ ดังนั้นผู้สอนต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันในกิจกรรมการเรียนรู้
(2) รูปแบบการเรียนฯ แบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) เป้าหมายการเรียนรู้ 2) บทบาทของผู้สอน 3) บทบาทของผู้เรียน 4) กิจกรรมการเรียนโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน 5) คอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกัน และ 6) การประเมินผล และ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเลือกปรากฏการณ์ด้วยเครื่องมือแบ่งปันวิดีโอออนไลน์ 2) การทำงานร่วมกับทีมด้วยเครื่องมือไวท์บอร์ดแบบมีปฏิสัมพันธ์ 3) การรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือเอกสารสำหรับการทำงานร่วมกันออนไลน์ และ 4) การสร้างงานนำเสนอด้วยเครื่องมือสร้างงานนำเสนอร่วมกันออนไลน์
(3) สมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนเตรียมทหารจากการประเมินในครั้งที่ 1 3 และ 5 พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีเจตคติต่อวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยรูปแบบการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์พกพาสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อีกทั้งผู้เรียนมีความคิดเห็นว่ารูปแบบการเรียนฯ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด