Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อนำเสนอชุดกิจกรรมบทบาทสมมติเพื่อพัฒนาเสียงสำหรับผู้เรียนโสตทักษะ เรื่องการจำระดับเสียงสำหรับผู้เรียนไวโอลินระดับต้น และ 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดกิจกรรมบทบาทสมมติในเรื่องการพัฒนาโสตทักษะ เรื่องการจำระดับเสียงสำหรับผู้เรียนไวโอลินระดับต้น ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงวิจัยและพัฒนา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมบทบาทสมมติ 2) คู่มือการใช้ชุดกิจกรรม 3) แบบประเมินชุดกิจกรรม 4) แบบทดสอบชุดกิจกรรม 5) แบบบันทึกคะแนนผู้เรียนก่อนและหลังการทดลองใช้ชุดกิจกรรม 6) แบบบันทึกการสังเกตลักษณะและพฤติกกรรมของผู้เรียนจากผู้ครูสอน ผู้เรียนในการวิจัยครั้งนี้คือนักเรียนไวโอลินระดับต้นไวโอลินที่มีอายุ 9-12 ปี โดยมีทักษะด้านไวโอลินไม่เกินระดับ Grade 1 วัดระดับจากศูนย์สอบวัดระดับ Trinity College London และ Associated Board of Royal School of Music : ABRSM จำนวน 8 คน
ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดกิจกรรมบทบาทสมมติเพื่อพัฒนาเสียงสำหรับผู้เรียนโสตทักษะ เรื่องการจำระดับเสียงสำหรับผู้เรียนไวโอลินระดับต้น ประกอบด้วยนิทานทั้งหมด 6 เรื่อง ได้แก่ 1.1) ต้นไทรกับต้นอ้อ (ระดับเสียง 1-1) 1.2) ราชสีห์กับหนู (ระดับเสียง 1-5) 1.3) กระต่ายกับเต่า (ระดับเสียง1-2) 1.4) มดง่ามกับจักจั่น (ระดับเสียง 5-6) 1.5) หมาจิ้งจอกกับนกกระสา (ระดับเสียง 1-3) 1.6) พ่อค้าเกลือกับโคด่าง (ระดับเสียง 5-3) 2) ผลของการทดลองใช้ชุดกิจกรรมบทบาทสมมติเพื่อพัฒนาโสตทักษะเรื่องการจำระดับเสียงสำหรับผู้เรียนไวโอลินระดับต้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 2.1) ผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมจากการใช้ชุดกิจกรรมบทบาทสมมติ พบว่าทักษะการฟัง การร้อง การเล่นให้ตรงระดับเสียงเป็นทักษะที่เป็นอิสระต่อกัน ดังเห็นได้จากผู้เรียนกลุ่มที่มีพื้นฐานจะมีความสามารถและพัฒนาการในทักษะทั้ง 3 ในทิศทางเดียวกัน ส่วนผู้เรียนกลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานจะมีความสามารถและพัฒนาการในทักษะทั้ง 3 แตกต่างอย่างเป็นอิสระต่อกัน โดยผลการสังเกตพบว่าทักษะการฟังและการเล่น สามารถพัฒนาได้ใน 6 สัปดาห์ส่วนทักษะการร้องให้ตรงระดับเสียงจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้น 2.2) ผลสัมฤทธิ์รายบุคคลจากการใช้ชุดกิจกรรมบทบาทสมมติ พบว่ามีความเชื่อมโยงบทบาทสมมติในลักษณะต่างๆ โดยผู้เรียน (ร้อยละ 80) ส่วนมาก จะมีพัฒนาการที่เกิดจากการเชื่อมโยงกับบทบาทสมมติได้ทั้ง 3 ทักษะอย่างดี โดยผู้เรียนมีการประเมินตนเองได้เร็วขึ้นระหว่างการฟัง ผู้เรียนสามารถฟังและระบุระดับเสียงได้เร็วขึ้น ผู้เรียนมีการพัฒนาการด้านการเล่นได้ตรงระดับเสียงอย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้นจากการเชื่อมโยงเสียงกับบทบาทสมมติในลักษณะการร้องเนื้อเพลงไปพร้อมกับการเล่น และนักเรียนสามารถร้องได้ตรงเสียงมากขึ้นรวมถึงใช้การร้องเนื้อเพลงในบทบาทสมมติเพื่อเทียบเสียงโดยสมัครใจและพบว่า ผู้เรียน (ร้อยละ 20) มีพัฒนาการที่เกิดจากการเชื่อมโยงบทบาทสมมติกับทักษะการฟังกับการเล่นได้ชัดเจนมากกว่าพัฒนาด้านการร้องภายในช่วงระยะเวลา 6 สัปดาห์