Abstract:
ยาไมโครฟีโนลิกชนิดมีสารเคลือบเป็นยากดภูมิคุ้มกันใช้ป้องกันการปฏิเสธไตในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ยามีความผันแปรภายในตัวบุคคลและระหว่างบุคคลค่อนข้างสูง (high intra-and inter-individual variation) จึงควรตรวจติดตามระดับยาโดยหาจุดเวลาที่เหมาะสมที่สัมพันธ์ดีกับพื้นที่ใต้กราฟ (AUC คือ MPA exposure) รวมทั้งยังไม่มีรายงานการหาจุดตัด (cut-off point) ความเข้มข้นที่เหมาะสมที่บ่งถึงค่า MPA exposure ≥ 30 ไมโครกรัม•ชั่วโมง/มิลลิลิตรในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์คือหาความสัมพันธ์ของพื้นที่ใต้กราฟกับความเข้มข้นของ MPA และเมทาบอไลท์ทั้ง total และ free form แต่ละจุดเวลา และหาค่าจุดตัด (cut-off point) ความเข้มข้นที่บ่งถึงค่า MPA exposure ≥ 30 ไมโครกรัม•ชั่วโมง/มิลลิลิตร จึงทำการศึกษาในผู้ป่วยปลูกถ่ายไตจำนวน 20 ราย ที่ได้รับยา EC-MPS ขนาด 1,080 มกต่อวัน ร่วมกับทาโคลิมุสและเพรดนิโซโลน เก็บเลือดผู้ป่วยที่ 0 ก่อนรับประทานยาและ 0.5, 1, 1.5, 2, 2.5, 3, 3.5, 4, 6, 8, 10 และ 12 ชั่วโมงภายหลังรับประทานยา EC-MPS ในวันที่ 3 วัดความเข้มข้นของ MPA และเมทาบอไลท์ทั้ง total และ free form ด้วยวิธี LC-MS/MS จากการศึกษาพบว่าจุดเวลาที่ความเข้มข้นสัมพันธ์ดีที่สุดกับพื้นที่ใต้กราฟของ MPA total form C4 (r2 = 0. 50) MPA free form C8 (r2 = 0. 41) MPAG total form C6 (r2 = 0. 97) MPAG free form C8 (r2 = 0. 95) AcMPAG total form C4 (r2 = 0. 59) และ AcMPAG free form C0.5 (r2 = 0. 81) การหาจุดตัด (cut-off point) ที่บ่งถึงค่า MPA total form exposure ≥ 30 ไมโครกรัม•ชั่วโมง/มิลลิลิตร โดยเลือกจุดที่สัมพันธ์ดีคือที่ 4 ชั่วโมง ได้ค่าจุดตัด 2.05 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (ค่าความไว 73% ความจำเพาะ 100% และ area ROC 0.87) เพื่อความเหมาะสมในทางคลินิกอาจเลือกที่ 2 ชั่วโมง ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีรองลงมา และเลือกค่าความจำเพาะที่ 100% ซึ่งแสดงถึงไม่มีรายใดที่ค่า MPA total form exposure < 30 ไมโครกรัม•ชั่วโมง/มิลลิลิตร ดังนั้นจะได้ค่าจุดตัด 3.9 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร