Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณโลหะหนักทั้ง 11 ชนิดที่ดูดซับไว้บนอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) และระหว่าง 2.5 – 10 ไมโครเมตร (PM10-2.5) ที่เกิดจากการรื้อแยกซากโทรทัศน์แบบหลอดรังสีภาพคาโทด ณ ตำบลแดงใหญ่ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วนำไปคำนวณอัตราการปลดปล่อยโลหะหนักต่อผลิตภัณฑ์ และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับสัมผัสโลหะหนักทางการหายใจ ทำการเก็บตัวอย่างอนุภาค PM2.5 และ PM10-2.5 จากการรื้อแยกซากโทรทัศน์ด้วยชุดปั๊มเก็บตัวอย่างอากาศเฉพาะบุคคลที่ต่อกับ Personal Modular Impactors (PMI) ภายในตู้ปิด (Chamber) ขนาด 0.6 ลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งการเก็บตัวอย่างเป็น 2 รูปแบบ คือ เก็บตัวอย่างตลอดกระบวนการและแบบแยกขั้นตอน แต่ละรูปแบบใช้ตัวอย่างซากโทรทัศน์ 30 เครื่อง วิเคราะห์ปริมาณสารหนู แบเรียม เบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม ทองแดง แมงกานีส นิกเกิล ตะกั่ว พลวง และสังกะสี ด้วยเครื่อง ICP-MS ผลการศึกษาพบว่าการรื้อแยกซากโทรทัศน์ทั้งสองรูปแบบปลดปล่อยตะกั่ว สังกะสี และแบเรียมสูงกว่าโลหะนักอื่นๆ ในขณะที่เบริลเลียมมีค่าต่ำกว่าขีดความสามารถที่เครื่องวัดได้ (ND) ปริมาณการปลดปล่อยโลหะหนักรวมทั้ง 10 ชนิดใน PM2.5 และ PM10-2.5 จากการรื้อแยกซากโทรทัศน์ในพื้นที่มีค่าเท่ากับ 1,499.60 และ 1,166.46 มิลลิกรัมต่อปี ตามลำดับ จากการประเมินความเสี่ยงของผู้รื้อแยกซากโทรทัศน์ในกรณีที่ได้รับสัมผัสโลหะหนักในระดับที่ปลดปล่อยจากการรื้อแยกซากโทรทัศน์ภายใน chamber ที่เป็นระบบปิดจำนวน 30 เครื่องต่อสัปดาห์ และทำงานต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี ค่า HI ที่แสดงถึงระดับความเสี่ยงรวมจากการรับสัมผัสโลหะหนักที่ไม่ก่อมะเร็ง (สารหนู แบเรียม แคดเมียม โครเมียม ทองแดง แมงกานีส นิกเกิล ตะกั่ว พลวง และสังกะสี) ทั้งใน PM2.5 และ PM10-2.5 มีค่ามากกว่า 1 ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และระดับความเสี่ยงรวม (Total cancer risk) ของโลหะหนักที่ก่อมะเร็ง (สารหนู แคดเมียม โครเมียม นิกเกิล และตะกั่ว) ทั้งใน PM2.5 และ PM10-2.5 มีค่ามากกว่า 10-4 ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้เช่นกัน