Abstract:
พลาสติกชีวภาพถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดปัญหาการสะสมของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าจัดการไม่ถูกวิธีจะตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเกิดปัญหาไมโครพลาสติก การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องเริ่มจากสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลาสติกทุกประเภทตั้งแต่การเลือกใช้จนถึงการจัดการขยะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดปริมาณความต้องการใช้พลาสติก บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้และทิ้งพลาสติกชีวภาพของประชาชนในกรุงเทพมหานครผ่านปัจจัยการรับรู้ตามทฤษฎีของ Gibson ประกอบด้วยปัจจัยด้านความรู้ ประสบการณ์ สติปัญญา และสภาพแวดล้อม โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณอย่างแบบสอบถามปลายปิด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลมี 2 ส่วน ประกอบด้วย (1) สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและลักษณะทางประชากรศาสตร์ (2) สถิติเชิงอนุมาน ด้วยวิธี Stepwise Multiple Regression Analysis วิเคราะห์ข้อมูลความสัมพันธ์ของปัจจัยการรับรู้ต่อพฤติกรรมการใช้และทิ้งพลาสติกชีวภาพของกลุ่มตัวอย่างประชาชนในกรุงเทพมหานครจำนวน 85 คน ที่คำนวณจากโปรแกรม G*Power อาศัยการสุ่มตัวอย่างแบบโควตา (Quota Sampling) โดยแบ่งกลุ่มตามที่ตั้งของเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (strata) ทั้งหมด 3 เขต (เขตชั้นใน เขตชั้นกลาง และเขตชั้นนอก)
ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการรับรู้ตามทฤษฎีของ Gibson (ตัวแปรต้น) ต่อพฤติกรรมการใช้และทิ้งพลาสติกชีวภาพของประชาชนในกรุงเทพมหานคร (ตัวแปรตาม) พบว่าปัจจัยด้านสติปัญญามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้และทิ้งพลาสติกชีวภาพมากที่สุด แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ (1) หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉลากและคำอธิบายบนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอย (β) เท่ากับ 2.077 ที่ระดับนัยสำคัญ .01 และ (2) ลดปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพ เพราะบางชนิดก่อให้เกิดไมโครพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสะสมในร่างกายส่งผลต่อสุขภาพ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอย (β) เท่ากับ 3.574 ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ดังนั้นข้อเสนอแนะสำหรับการใช้และทิ้งพลาสติกชีวภาพเพื่อให้พฤติกรรมของประชาชนในกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงควรเน้นการรับรู้ด้านสถิติปัญญาเรื่องฉลากและคำอธิบายบนผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ รวมถึงลดปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพบางชนิดที่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก