Abstract:
หินบะซอลต์อุดมไปด้วยซิลิกาและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินบะซอลต์ที่เกิดจากการผุพังและย่อยสลายของหินบะซอลต์นั้นยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุซึ่งมีความจำเป็นสำหรับพืช รวมถึงมีความสำคัญต่อลักษณะเฉพาะบางประการและพืชบางชนิดด้วย เช่น กลิ่นหอมของข้าว เป็นต้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาแหล่งหินบะซอลต์ผุที่มีศักยภาพ ทั้งลักษณะทางกายภาพ เคมี และมีความเหมาะสมเชิงพื้นที่ เพื่อนำบะซอลต์ผุที่มีศักยภาพเหล่านั้นไปทดลองปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 (KDML105) วัดผลอัตราการเติบโตรวมถึงผลผลิตของข้าวด้วย เราให้ความสนใจพื้นที่เขากระโดงซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วและมีบะซอลต์ผุอยู่มากมายทั้งบริเวณโดยรอบและบริเวณใกล้เคียง วิธีการเริ่มจากการประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียมจำนวน 3 ดวงด้วยเทคนิค GIS เพื่อค้นหาและเปรียบเทียบขอบเขตและการกระจายตัวของบะซอลต์ จากนั้นจึงกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง สำหรับการขุดดินบะซอลต์ วิเคราะห์ตัวอย่างดินจาก 7 โปรไฟล์ด้วย XRD และ XRF พบว่าพื้นที่หลังองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยราช ไปทางทิศใต้ประมาณ 0.8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมที่สุด จากนั้นจึงนำบะซอลต์ผุไปทำการทดลองแบบ RCBD ในพื้นที่ทดลองในจังหวัดอุดรธานี ทำการสังเกตการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 รวมถึงการตรวจวัดคุณสมบัติทางด้านความหอมของเมล็ดข้าวด้วย ผลการวิจัยพบว่าหินบะซอลต์ผุมีผลต่อความสูงของต้นข้าว การแตกหน่อ จำนวนรวง จำนวนเมล็ดต่อรวง และน้ำหนักผลผลิตโดยรวม บะซอลต์ผุ 25% ต่อดินเสื่อมโทรม 75% คืออัตราส่วนที่เหมาะสมในการปรับสภาพดินที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวได้ดีทำให้ข้าวมีความสมบูรณ์ทั้งระยะการเจริญเติบโตช่วงต้นและระยะการสร้างเมล็ด รวมถึงทำให้ได้ผลผลิตรวมที่ดีที่สุดสำหรับการทดลองในครั้งนี้