Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นงานศึกษาเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ศึกษาการปรับตัวและการต่อรองของชุมชนชาติพันธุ์ต่อนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ กรณีศึกษา คือ ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ และชุมชนปกาเกอะญอ - อาข่าบ้านแม่ฮ่าง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ผู้วิจัยสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จำนวน 20 คน และชาวบ้านชุมชนบ้านแม่ฮ่าง อำเภองาว จำนวน 20 คน อีกทั้งผู้แทนหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ และชุมชนบ้านแม่ฮ่างอำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่มีความเห็นต่อการปรับตัวและการต่อรองของชุมชนบ้านกลาง และชุมชนบ้านแม่ฮ่างจำนวน 7 คน รวมจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด 47 คน
จากงานศึกษา พบว่า นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า การจัดการที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านกลางและชุมชนบ้านแม่ฮ่างได้รับผลกระทบ การสูญเสียที่ดินทำกิน การสูญเสียวิถีไร่หมุนเวียนที่มาแต่เดิม และถูกห้ามเก็บของป่า ซึ่งผลกระทบที่ชุมชนได้รับนำมาสู่การปรับตัวและการต่อรอง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การปรับตัวของชุมชนบ้านกลางและชุมชนบ้านแม่ฮ่างมีทั้งที่เป็นไปในลักษณะคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน การปรับตัวที่คล้ายคลึงกัน คือ การลดจำนวนปีของไร่หมุนเวียน และการลดพื้นที่แปลง หรือเลิกการทำไร่หมุนเวียน แต่ความแตกต่างคือชุมชนบ้านกลางยังคงยืนหยัดทำไร่หมุนเวียนอยู่แม้จะต้องปรับรูปแบบและรอบเวลา ในขณะที่ชุมชนบ้านแม่ฮ่างหันมาปลูกพืชเกษตรกรรมผสมผสานและนำการท่องเที่ยวมาเป็นแหล่งรายได้เสริม แต่ทั้งสองชุมชนไม่สามารถเข้าไปเก็บของป่าได้ดังเดิม และไม่สามารถดำรงชีวิตแบบเดิมได้อีกแล้วจึงนำมาสู่การต่อรองของชุมชนทั้งสอง ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวการชุมนุม การจัดทำข้อมูลชุมชน การจัดการทรัพยากรของชุมชน ซึ่งการต่อรองเหล่านี้เป็นการเรียกร้องสิทธิของชุมชน และแสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดต่อสู้ ในการรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเองที่ชุมชนพิสูจน์ได้ว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ผลที่เกิดขึ้นของชุมชนหลังจากการปรับตัวและการต่อรองของชุมชน รัฐได้มีการจัดการทรัพยากรผ่านกลไกของกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโดยเพิ่มบทบาทของรัฐในการจัดการทรัพยากรมากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนมีบทบาทและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมลดลง ทำให้ชุมชนยังไม่มีความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน อีกทั้งขาดกระบวนการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติกับรัฐจึงเกิดการเรียกร้องให้มีการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน และกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่งผลให้พื้นที่บางส่วนของชุมชนบ้านกลางและชุมชนบ้านแม่ฮ่างได้รับการกันออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท แต่ยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์เป็นลำดับไป