Abstract:
โครงการโซล่าฟาร์มได้ทำการเปลี่ยนแผงโซล่าเซลล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากแผงโซล่าเซลล์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีราคาที่ถูกลง ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์จากแผงโซล่าเซลล์เดิมที่ถูกเปลี่ยนออก สามารถนำไปเพิ่มมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายไปต่างประเทศหรือไม่ การนำแผงโซล่าเซลล์ไปติดตั้งในรูปแบบลอยน้ำสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์ได้ 10-15% ซึ่งมีโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟให้ลูกค้าในรูปแบบ Private PPA โดยได้นำแผงโซล่าเซลล์มือสองมาติดตั้งร่วมกับแผงโซล่าเซลล์ใหม่ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความคุ้มค่าการลงทุน มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 615.36 kW โดยติดตั้งแผงโซล่าเซลล์มือสอง 246 kWp หรือคิดเป็น 40% และแผงโซล่าเซลล์ใหม่ 369.36 kWp หรือคิดเป็น 60% ในพื้นที่โรงผลิตน้ำประปา อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เริ่มจัดเก็บข้อมูล ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึง ตุลาคม 2565 เป็นระยะเวลา 1 ปี จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์มือสองและแผงโซล่าเซลล์ใหม่ ได้ข้อสรุปว่า แผงโซล่าเซลล์ใหม่มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าผลิตได้จริงมากกว่าแผงโซล่าเซลล์มือสอง 13% ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านความคุ้มค่า แผงโซล่าเซลล์ใหม่มีความคุ้มค่ามากกว่าแผงโซล่ามือสอง โดยแผงโซล่าเซลล์มือสองคิดมูลค่า 500 บาท/แผ่น มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) เท่ากับ 4.11 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนภายในโครงการ (Internal Rate Return) เท่ากับ 27.84 % และมีระยะเวลาคืนทุน (Pay Back Period) 3.4 ปี มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของต้นทุนต่อหน่วยการผลิตฟ้าตลอดอายุการใช้งานเท่ากับ 0.53 บาท/หน่วย และแผงโซล่าเซลล์ใหม่ คิดมูลค่าแผง 4,723 บาท/แผ่น มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) เท่ากับ 7.64 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนภายในโครงการ (Internal Rate Return) เท่ากับ 30.57 % และมีระยะเวลาคืนทุน (Pay Back Period) 3.1 ปี มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของต้นทุนต่อหน่วยการผลิตฟ้าตลอดอายุการใช้งานเท่ากับ 0.45 บาท/หน่วย