Abstract:
สถานการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าภายในโรงงานกรณีศึกษา เพิ่มสูงขึ้นทุกปี การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เป็นหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานจากสายส่งของการไฟฟ้าลงได้ จึงเป็นที่มาของการวิจัยนี้ โดยทำการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงินของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯของโรงงานกรณีศึกษา พื้นที่ติดตั้งทั้งหมด 2,500 ตรม.(อาคารที่1,2และ4) โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ต่างกันทั้งหมด 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่1 แผงMonocrystalline Full Cell , กรณีที่2 แผง Polycrystalline Full Cell และกรณีที่ 3 แผงMonocrystalline Half-Perc Cell ผ่านโปรแกรม PVSyst เพื่อเปรียบเทียบค่าพลังงานที่ผลิตได้และมีความคุ้มค่าที่สุด ผลที่ได้คือ กรณีที่ 3 มีความคุ้มค่าทางการเงินและประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด คือมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (24,624,574.60 บาท), ผลตอบแทนภายในที่สูงที่สุด(22.99%) และมีระยะเวลาคืนทุน(4.31ปี) ที่สั้นที่สุด นอกจากนี้ ค่าต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าตลอดอายุโครงการ(3.53 บาท/หน่วย) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงที่ทางโรงงานใช้อยู่(4.18 บาท/หน่วย) รองลงมาคือกรณีที่ 1 และ กรณีที่ 2 ตามลำดับ อีกทั้งหลังคาที่ติดตั้งโซล่าเซลล์สามารถช่วยสกัดกั้นการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาได้ดีกว่าหลังคาที่ไม่ทำการติดตั้งจากการประเมินผ่านโปรแกรม BEC คือมีค่า RTTV = 8.743 W/m2 ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงพลังงานซึ่งต้องไม่เกิน RTTV=10 W/m2 นอกจากนี้งานวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) จากปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของโครงการ โดย อัตราค่าไฟฟ้า มีผลต่อโครงการมากที่สุด และค่าต้นทุนโครงการ CAPEX และ OPEX ตามลำดับ ซึ่งทุกกรณีเป็นไปในทางเดียวกันและยังคงมีความคุ้มทุนในการลงทุน