Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน ปริมาณการใช้พลังงานและการจัดหาพลังงานสำหรับชุมชน รวมถึงเสนอแนวทางการจัดการพลังงานในชุมชน โดยใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เชิงสถิติ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ พบว่า เทศบาลตำบลบ้านดู่ เป็นเทศบาลที่ประสบปัญหาการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งจากจำนวนประชากรในท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้น และประชากรแฝง โดยมีแนวโน้มที่จะมีการขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่องในอนาคต ส่งผลกระทบต่อการจัดการพลังงานในอนาคต ซึ่งความต้องการของชุมชนด้านพลังงาน คือ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ลดการนำเข้าพลังงานจากภายนอกชุมชน ผ่านการคัดเลือกเทคโนโลยีและมาตรการด้านพลังงาน โดยในปัจจุบันชุมชนมีการบริโภคพลังงานทั้งหมด 21,180.42 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี และพลังงานที่ต้องจัดหาสำหรับชุมชน 22,166.92 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากภายนอกชุมชน ร้อยละ 98 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 103,254.52 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และภายใต้สถานการณ์แบบเป็นไปตามปกติ (BAU) ปี พ.ศ. 2570 ปริมาณการบริโภคพลังงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 23,697.97 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จะต้องจัดหาพลังงานทั้งสิ้น 24,801.73 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และจะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 115,527.56 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมีแนวทางการจัดการพลังงานในชุมชนผ่านการคัดเลือกเทคโนโลยีและมาตรการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน และตามความต้องการของชุมชน ได้ทั้งหมด 7 รายการ จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 9.62 ของการใช้พลังงานทั้งหมด กรณีปกติ ในปี พ.ศ. 2570 ลดการนำเข้าพลังงานจากภายนอกชุมชนได้ร้อยละ 18.20 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 11.38 ของกรณีปกติ ปี พ.ศ. 2570 เกิดการจ้างงานในชุมชน สาขาการก่อสร้างหรือติดตั้งระบบได้ 25,304,999.29 บาท และสาขาดำเนินงานและบำรุงรักษา 1,236,393.17 บาทต่อปี