Abstract:
ความเจ็บป่วยเป็นสภาวะที่รู้สึกไม่สบาย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและใจ สำหรับความเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาในสถานพยาบาลจำเป็นจะต้องมีการควบคุมคุณภาพในการให้บริการเพื่อให้กระบวนการรักษาพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล อุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยาเป็นความผิดพลาดที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในการรักษาพยาบาล แม้ว่าอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยาจะมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างมากในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ควรให้มีการเกิดขึ้นเลย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ผู้รับบริการหรือผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นแลระยะยาว ในขณะที่ผู้ให้บริการเองก็อาจเผชิญกับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย รวมไปถึงสูญเสียความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการจากผู้รับบริการด้วย อุบัติการณ์ความคลาดเลื่อนทางยา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยา คลาดเคลื่อนในการคัดลอกคำสั่งใช้ยา คลาดเคลื่อนในการจ่ายยา และคาดเคลื่อนในการบริหารยา ในปัจจุบันมีการนำเครื่องมือช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาใช้งาน อาทิ ตู้จัดยาอัตโนมัติ ระบบบาร์โค้ด ระบบ RFID และ บลูทูธ ระบบหุ่นยนต์ช่วยจัดยา เป็นต้น แต่แนวทางการปฏิบัติขั้นพื้นฐาน การตรวจสอบความถูกต้องโดยบุคลากรมีส่วนช่วยในการลดอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยา ซึ่งจะส่งผลไปสู่การเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของสถานพยาบาล การยกระดับคุณภาพการให้บริการทางสาธารณสุข ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อสถานพยาบาลเอง แต่ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ในด้านการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศได้
ในปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการผลักดันให้เกิดการยกระดับการให้บริการทางด้านสาธารณสุข อาทิ ความเข้มงวดของกฎหมาย ความพร้อมทางเทคโนโลยี ผู้วิจัยได้เล็งเห็นโอกาสในการนำเอาเทคโนโลยี Optical Character Recognition (OCR) มาผสานการทำงานร่วมกันเทคโนโลยี Pill Identifier ในรูปแบบของโมบายแอปพลิเคชัน
ผู้วิจัยได้ดำเนินการออกแบบแอปพลิเคชันต้นแบบ นำไปดำเนินการทดสอบกับเจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพประจำหอผู้ป่วยอันเป็นกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นจึงทำการประเมินความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ โดยหลังจากมีการประเมินความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ของ การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันตรวจความถูกต้องในการบริหารยาผู้ป่วยในสำหรับสถานพยาบาลในประเทศไทยแล้ว พบว่าในด้านความพร้อมของเทคโนโลยีมีการยอมรับและประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน และในด้านการเงิน มีระยะเวลาคืนทุนที่สั้นเพียง 1 ปี 2 เดือน ในภาพรวมจึงสามารถสรุปได้ว่า "การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันตรวจสอบความถูกต้องในการบริการยาผู้ป่วยในสำหรับสถานพยาบาลในประเทศไทย" มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการเชิงพาณิชย์