Abstract:
ขยะเปลือกหอยแมลงภู่สามารถเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยว ด้วยกระบวนการ waste-to-value โดยนวัตกรรมแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่แคลเซียมคาร์บอเนตแบบอะราโกไนต์ให้มีขนาดไมโครเมตรและนาโนเมตรที่สามารถแก้ดินเปรี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ใช้ปริมาณน้อยกว่าปูนแบบเดิม และยังสามารถนำแร่ธาตุสำคัญคือ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส เข้าไปอยู่แทนที่สารอินทรีย์ในโครงสร้างอะราโกไนต์ได้ สร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์หมวดหมู่ใหม่เป็นสินค้า “ทูอินวัน” ที่สามารถแก้ดินเปรี้ยวได้เหมือนปูนแล้วจึงปล่อยแร่ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสลงสู่ดินได้เหมือนปุ๋ยธาตุหลัก ช่วยลดต้นทุนวัสดุเพาะปลูกและแรงงานการหว่านจากเดิม 2 ครั้งให้เหลือเพียงครั้งเดียว งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วยการศึกษาความต้องการของตลาด การยอมรับในผลิตภัณฑ์ และโอกาสในการทําธุรกิจ โดยมีขอบเขตการศึกษาพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ด้วยวิธีดำเนินการวิจัยที่เหมาะสมกับลักษณะอุปนิสัยของกลุ่มเป้าหมายหลักคือเกษตรกร ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์พบว่าราคาและประสิทธิภาพคุ้มค่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อวัสดุเพื่อการเพาะปลูก โดยที่ปัญหาดินเปรี้ยวยังเป็นหนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับดินที่กระทบเกษตรกรมากเป็นอันดับต้นๆ และข้อมูลจากแบบสอบถามพบความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลความสนใจในผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบกับข้อมูลระดับผลกระทบปัญหาดินเปรี้ยว และเปรียบเทียบกับข้อมูลความคิดเห็นเรื่องการประหยัดกว่าการใช้วัสดุแบบเดิม และเปรียบเทียบกับข้อมูลจังหวัดที่ทำการเพาะปลูกอยู่ ส่วนกลยุทธ์การตลาดควรมุ่งไปที่การเปลี่ยนจากการใช้ผลิตภัณฑ์เดิม (Brand Switching) ซึ่งเป็นหมวดหมู่แบบเดิมมาเป็นผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่ใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ คือต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์