Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงจากโปรตีนเวย์ เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงการดูแลสุขภาพมากขึ้นจากหลายปัจจัย ดังนั้นผู้วิจัยจึงเล็งเห็นโอกาสในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว รวมถึงความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงจากโปรตีนเวย์ด้วยเทคโนโลยี จึงนำงานวิจัยดังกล่าวมาศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อประเมินศักยภาพตลาดและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างที่ให้ความสนใจในด้านสุขภาพจำนวน 15 คน และสำรวจการยอมรับในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงจากโปรตีนเวย์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน และนำผลการศึกษาดังกล่าวมาออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงจากโปรตีนเวย์เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์
จากผลการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่ากลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายคาดหวังให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงคือต้องการผลลัพธ์ที่ได้จากการรับประทาน ราคาที่จับต้องได้ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จากการสำรวจการยอมรับในผลิตภัณฑ์ พบว่าผู้บริโภคมีความสนใจในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงจากโปรตีนเวย์ร้อยละ 81.3 ประเด็นสำคัญในการพิจารณาในการออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดคือ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และความสะดวกสบายด้านสถานที่จัดจำหน่าย สำหรับผู้บริโภคเลือกซื้อเครื่องดื่มโปรตีนเวย์เพื่อต้องการสร้างกล้ามเนื้อเป็นหลัก การพิจารณาในการออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดคือ ชนิด และคุณภาพของโปรตีนเวย์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ เนื่องจากผู้บริโภคเน้นผลลัพธ์ที่ได้จากการทานโปรตีนเวย์
จากการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินจากการจ้างผลิต (OEM) แทนการจัดตั้งโรงงานผลิต โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้น 2,100,000 บาท ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินในกรณีปกติ (Base case) ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 25 บาท โดยผลการคาดคะเนส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 5 พบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากธุรกิจสามารถสร้างกำไรซึ่งมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของธุรกิจ (NPV) เป็นบวก เท่ากับ 31,527,319 บาท และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (IRR) เป็นบวก เท่ากับ 145.5% และมีระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจ (Payback Period) เท่ากับ 1.38 ปี จึงสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่โปรตีนสูงจากโปรตีนเวย์มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์