Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษารูปแบบการพัฒนาการอบรมให้ความรู้ที่เหมาะสมกับอุปนิสัยและคุณลักษณะของผู้ประกอบการที่จะส่งผลให้มีความตั้งใจและกำลังใจในระดับสูงในการขยายธุรกิจและมีความสามารถในการใช้คืนเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกรณีของผู้ประกอบการกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) การวิเคราะห์บทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการต้นแบบลูกค้าธนาคารฯที่ได้รับรางวัล Thailand TOP SME Awards จำนวน 9 ท่าน ในประเด็นที่เกี่ยวกับอุปนิสัยและทัศนคติในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการอบรม หลังจากนั้นจึงมีการคัดเลือก 3 ท่าน จากในกลุ่มผู้ประกอบการต้นแบบที่ได้รับรางวัล Thailand TOP SME Awards เพื่อทำการสัมภาษณ์เชิงลึกจากอุปนิสัยและทัศนคติทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความโน้มเอียงในการเป็นผู้ประกอบการ 2. การมุ่งเน้นการตลาด 3. การดูดซับความรู้ และ 4. ความมีใจรักและความเพียร และทำการวิเคราะห์ความสอดคล้องของอุปนิสัยและทัศนคติกับหัวข้อในการอบรมที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ โดยใช้เครื่องมือ QFD (Quality Function Deployment) เมื่อได้หัวข้อการอบรมที่เหมาะสม ผู้วิจัยจึงประสานไปยังวิทยากรที่มีอุปนิสัยและคุณลักษณะที่โดดเด่นสอดคล้องเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเนื้อหา และเปิดรับสมัครให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคารฯ และผู้ประกอบการทั่วไปที่สนใจ โดยมุ่งเน้นไปที่การอบรมที่เกี่ยวกับ การหาโอกาสใหม่ในธุรกิจ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ การจัดการกับปัญหาและอุปสรรค พร้อมด้วยเสริมบริการเข้าถึงแหล่งทุนของธนาคารฯ ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับผู้ประกอบการ 42 ราย ที่เข้าอบรมแบ่งออกเป็น 2 แบบ 1) ข้อมูลทั่วไปของธุรกิจและประเมินอุปนิสัยและคุณลักษณะก่อนเริ่มอบรม 2) ประเมินความพึงพอใจและการนำความรู้ไปใช้หลังการอบรม ผลวิเคราะห์ทางสถิติ พบว่า ปัจจัยอุปนิสัยของผู้ประกอบการ ทั้ง 4 ด้าน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญด้านการให้ความสำคัญกับเนื้อหาในการอบรมกับผู้ประกอบการในกลุ่มประเภทธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีการให้ความสำคัญกับ การอยากทำงานให้หนักมากยิ่งขึ้น และ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า 0.05 และพบข้อมูลผู้ที่ประเมินว่าตัวองมีความโน้มเอียงในการเป็นผู้ประกอบการสูง จะมีการนำความรู้ไปใช้ในช่วงเวลา 3-6 เดือน คิดเป็น 80.92% มากกว่า กลุ่มอุปนิสัยอื่นคิดเป็น 20.67% โดยผลวิเคราะห์สามารถนำมาพัฒนาการอบรมและต่อยอดการเข้าถึงแหล่งทุนของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น