Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63063
Title: การพัฒนาแผ่นฟิล์มสำหรับติดช่องปากที่บรรจุเอเซียติโคไซด์จากสารสกัดบัวบกและสารสกัดว่านหางจระเข้เพื่อการรักษาเยื่อเมือกช่องปากอักเสบจากการฉายรังสี
Other Titles: Development of buccal films containing asiaticoside from Centella asiatica extract and aloe vera extract for the treatment of radiation-induced oral mucositis
Authors: ศโลชา เชื้อดี
Advisors: จุฑารัตน์ กิจส่งเสริมธน
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะเภสัชศาสตร์
Advisor's Email: Jutarat.K@Chula.ac.th
Issue Date: 2559
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: เยื่อเมือกช่องปากอักเสบเป็นผลข้างเคียงที่พบมากในผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอที่ได้รับการรักษาโดยการฉายรังสี ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่เป็นมาตรฐาน แต่การรักษาแบบเฉพาะที่ เป็นการรักษาที่เหมาะสมกับรอยโรคเยื่อเมือกช่องปากอักเสบมากที่สุด แต่ก็พบว่าตำรับยาที่มีใช้ในปัจจุบันมักอยู่ในรูปของยาน้ำสารละลาย น้ำยาบ้วนปาก และขี้ผึ้งป้ายแผล ซึ่งตำรับที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถยึดเกาะอยู่บริเวณแผลเพื่อนำส่งยาได้เพียงระยะเวลาสั้นๆทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาบ่อยครั้งมากขึ้น ดังนั้นแผ่นฟิล์มที่ยึดเกาะเยื่อเมือกได้นานจึงเป็นตำรับที่น่าสนใจในการศึกษา ในปัจจุบันมีการศึกษาสารสกัดจากบัวบกและสารสกัดว่านหางจระเข้ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาเยื่อเมือกช่องปากอักเสบ เนื่องจากสารทั้งสองชนิดมีฤทธิ์สมานแผล และยังมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ จึงเป็นสารที่น่าสนใจนำมาเตรียมเป็นตำรับแผ่นฟิล์มเพื่อนำส่งไปบริเวณแผลเยื่อเมือกช่องปากอักเสบ ในการศึกษานี้ได้เตรียมแผ่นฟิล์มจากพอลิเมอร์ 3 ชนิด คือ พอลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) , ไฮดรอกซีโพรพิล เมทิลเซลลูโลส (HPMC) และไฮดรอกซีโพรพิล เซลลูโลส (HPC) โดยเตรียมแผ่นฟิล์มจากพอลิเมอร์เดี่ยวๆและผสมระหว่าง PVA และ HPC หรือ HPMC ที่อัตราส่วน 3:1 และ 2:2 โดยใช้กลีเซอรีนเป็นพลาสติกไซเซอร์ที่ปริมาณร้อยละ 5 และ 10 ของน้ำหนักพอลิเมอร์ แผ่นฟิล์มทั้ง 12 สูตรจะถูกนำไปศึกษาลักษณะทางกายภาพ ความแข็งแรง ความสามารถในการยืดหยุ่น การพองตัวของแผ่นฟิล์ม อุณหภูมิการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้วของแผ่นฟิล์ม แรงที่แผ่นฟิล์มสามารถยึดเกาะอยู่กับเยื่อเมือกช่องปาก แรงที่ทำให้แผ่นฟิล์มหลุดลอกออกจากเยื่อเมือกช่องปาก เวลาที่แผ่นฟิล์มสามารถยึดเกาะอยู่บริเวณเยื่อเมือกช่องปาก จากนั้นจึงทำการคัดเลือกสูตรตำรับเพื่อนำไปศึกษาต่อในหัวข้อการวิเคราะห์หาปริมาณเอเชียติโคไซด์ ปริมาณอะซิแมนแนน การปลดปล่อยเอเชียติโคไซด์ออกจากแผ่นฟิล์ม และศึกษาความคงตัวทางเคมีและกายภาพ ผลการศึกษาพบว่าแผ่นฟิล์ม HPMC เดี่ยวๆ มีความแข็งแรงสูงสุด ในขณะที่แผ่นฟิล์มผสมของ PVA:HPMC ทั้งสองอัตราส่วน (3:1 และ 2:2) กลับมีความแข็งแรงน้อยกว่า และยังพบว่าปริมาณกลีเซอรีนที่มากขึ้นส่งผลให้แผ่นฟิล์มมีความแข็งแรงลดลง เมื่อพิจารณาความสามารถในการยืดหยุ่นของแผ่นฟิล์ม พบว่าแผ่นฟิล์ม PVA เดี่ยว และ PVA:HPMC มีความยืดหยุ่นมากกว่าแผ่นฟิล์ม HPMC เดี่ยว ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ตรงข้ามกับความแข็งแรงของแผ่นฟิล์ม โดยแผ่นฟิล์มที่มีความแข็งแรงสูงกลับมีความสามารถในการยืดหยุ่นต่ำ และพบว่าปริมาณกลีเซอรีนที่มากขึ้นส่งผลให้แผ่นฟิล์มมีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยเฉพาะสูตรผสมระหว่าง PVA และ HPC ที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05). ในส่วนของการศึกษาความสามารถในการพองตัวของแผ่นฟิล์มพบว่าแผ่นฟิล์ม HPMC และแผ่นฟิล์ม PVA:HPMC เป็นส่วนประกอบ มีความสามารถในการพองตัวมากกว่าสูตรอื่นๆแต่ก็พบว่าไม่มีสูตรใดเลยที่มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้วของแผ่นฟิล์ม พบว่า PVA มีอุณหภูมิการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้วมากที่สุด เมื่อนำมาใช้ในรูปแบบของพอลิเมอร์ผสมพบว่า HPMC และ HPC ทำให้ PVA มีอุณหภูมิการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้วลดลง การศึกษาแรงในการยึดเกาะของแผ่นฟิล์ม พบว่าแผ่นฟิล์ม PVA:HPMC (3:1) มีความสามารถในการยึดเกาะสูงสุดทั้งในด้านของแรงและเวลาที่สามารถยึดเกาะได้ ปริมาณของตัวยาทั้งสองคือเอเชียติโคไซด์และอะซีแมนแนน อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และทุกสูตรตำรับมีการปลดปล่อยเอเชียติโคไซด์ ในรูปแบบปฏิกิริยาอันดับศูนย์ ในการศึกษาความคงตัวพบว่าแผ่นฟิล์มทุกสูตรมีความคงตัวทางเคมีที่ดี แผ่นฟิล์ม PVA และ PVA:HPMC (3:1) มีความคงตัวทางกายภาพทั้งดีเมื่อพิจารณาจากค่าความแข็งแรงและความยืดหยุ่น และพบว่าที่เวลา 1, 3 และ 6 เดือน แผ่นฟิล์มทุกสูตรตำรับมีความสามารถในการยึดเกาะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) จากการทดสอบคุณสมบัติทั้งด้านกายภาพ เคมี และเชิงกล พบว่าแผ่นฟิล์มที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้นำส่งยาบริเวณแผลเยื่อเมือกช่องปากอักเสบมากที่สุด คือสูตร PVA:HPMC (3:1) และปริมาณกลีเซอรีนที่เหมาะสมคือ 10% ของน้ำหนักพอลิเมอร์ เนื่องจากมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี มีความสามารถในการยึดเกาะสูง อีกทั้งยังมีความคงตัวทั้งทางเคมีและกายภาพที่ดี
Other Abstract: Mucositis is the most common side effect for cancer patient treated by radiotherapy. In present, there are no standard therapy and local theatment is the most suitable for mucositis. Local delivery systems such as solutions, mouthwashes and oral ointments, provide short action due to lack of mucoadhesion. Thus, the extended release buccal films are an interesting dosage form for mucositis. Centella asiatica extract and aloe vera extract have been reported for mucositis treatment since they have would healing and anti-oxidantive effects. The buccal films containing asiaticoside and aloe vera had been formulated in this study. The buccal films were prepared from polyvinyl alcohol (PVA), hydroxypropyl methylcellulose (HPMC), hydroxypropyl cellulose (HPC) and their combinations at 3:1 and 2:2 ratios with 5% and 10% w/w of glycerin as plasticizer. These twelve buccal films were investigated on physical appearance, tensile strength, elongation at break, swelling index, glass transition temperature, mucoadhesion strength, peeling strength, residence time, drug content (asiaticoside and acemannan), in vitro drug release and stability study. The results revealed that HPMC films showed maximum tensile strength whereas PVA films and PVA:HPMC (3:1 and 2:2) also showed adequate tensile strength. The higher the amount of glycerin, the less the tensile strength. PVA films and PVA:HPMC films had higher elongation at break than that of HPMC films. The films with high tensile strength demonstrated lower elasticity. The increase of glycerin significantly improved the elasticity only on PVA:HPC films (p-value < 0.05). Although films composed of HPMC had the highest swelling index, none of all film formulations showed significant difference in swelling and glycerin did not have a significant effect on swelling. PVA films showed maximum glass transition temperature (Tg) and when HPMC was added in the combinations with PVA, Tg were decreased.  PVA:HPMC (3:1) films showed the highest mucoadhesion strength and the longest residence time. The content for both asiaticoside and acemannan were in the acceptable range. All films showed the zero-order release kinetics for asiaticoside. All formulations had more adhesion strength at 1, 3 and 6 month. Thus, PVA:HPMC (3:1) films with 10% w/w glycerin were suitable for buccal delivery since the films showed excellent strength and elasticity, highest mucoadhesion and good stability.
Description: วิทยานิพนธ์ (ภ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559
Degree Name: เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: เภสัชกรรม
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63063
URI: http://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2016.87
metadata.dc.identifier.DOI: 10.58837/CHULA.THE.2016.87
Type: Thesis
Appears in Collections:Pharm - Theses

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
5776130533.pdf4.72 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.