Abstract:
จุดมุ่งหมายของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ คือ การศึกษาถึงข้อจำกัดของระบบการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งสหประชาชาติตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา กฎบัตรสหประชาชาติได้ระบุวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา และศาสนา และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว สหประชาชาติได้จัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นเพื่อรับผิดชอบในการดูแล ส่งเสริมการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งองค์กรหลักของสหประชาชาติที่รับผิดชอบ ได้แก่ สมัชชา และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ และมีคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรรองของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่จัดตั้งเพื่อคอยสนับสนุนงานด้านการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ สหประชาชาติ อย่างไรก็ดี กลไกต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้น ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคของโลก จากการศึกษาพบว่า แม้หลักกฎหมายระหว่างประเทศจะเปิดโอกาสให้สหประชาชาติ สามารถเข้าไปดำเนินการกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐอธิปไตยได้ แต่ในทางปฏิบัติ สหประชาชาติต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในรัฐต่างๆ ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การขาดความร่วมมือจากรัฐสมาชิกกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและการขาดอำนาจบังคับของสหประชาชาติต่อรัฐสมาชิกที่ทำการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชน