Abstract:
ศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจ ในการปรับนโยบายของลาวต่อไทย หลังวิกฤตการณ์บ้านร่มเกล้า ปี ค.ศ. 1988 อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลักษณะของความสัมพันธ์ลาว-ไทย จากความขัดแย้งและเผชิญหน้าไปสู่ความร่วมมือและมิตรภาพ จนถึงปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2001) โดยอาศัยกรอบความคิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างรัฐ ของ ชไนเดอร์, บรูค และ ซาปิน การศึกษาพบว่า แนวคิดจินตนาการใหม่ อันเป็นผลของการประชุมครบคณะของคณะกรรมการบริหารงานศูนย์กลางพรรค ครั้งที่ 5 สมัยที่ 4 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งมีขึ้นในห้วงปี ค.ศ. 1987 ถึงปี ค.ศ. 1988 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้นำลาว คือนายไกสอน พมวิหาน ตัดสินในปรับนโยบายต่อไทย พร้อมๆ กับการตัดสินใจยุติวิกฤตการณ์บ้านร่มเกล้าด้วยการเจรจากับผู้นำทางทหารของฝ่ายไทย ในเวลาเดียวกันนั้นผู้นำลาวได้ปรับหลักการการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศกับกลุ่มประเทศโลกเสรี จากเดิมที่ปฏิเสธความร่วมมือไปสู่ การยึดมั่นในสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือรอบด้าน เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ยึดหลักการไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด และสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค หลักการใหม่นี้ ได้เอื้ออำนวยให้ลาวสามารถร่วมมือกับกลุ่มประเทศในโลกเสรีได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับประเทศไทยทำให้ความสัมพันธ์ลาว-ไทย ในห้วงปี ค.ศ. 1988 ถึงปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2001) ดำเนินภายใต้กรอบของความประนีประนอมและมิตรภาพตลอดมา นอกจากนั้นยังพบว่านโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ในปี ค.ศ. 1989 ของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการปรับนโยบายของลาว อันนำไปสู่การเกิดปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก จนทำให้เกิดความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างลาวและไทย นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าว ถึงจะมีความราบรื่น ความเข้าใจกันอย่างสร้างสรรค์ แต่ลาวก็แฝงความกังวลและหวาดระแวงไทยอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อไทยอีกครั้ง ดังนั้นหากไทยไม่สามารถทำให้ลาวคลายความกังวลและหวาดระแวงไทยได้ การดำเนินความสัมพันธ์ลาว-ไทย ก็ยังคงมีความเปราะบางอยู่