Abstract:
การวิจัยส่วนที่ 1 วิจัยเชิงพรรณา ศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม จากการปรึกษาเชิงจิตวิทยา 3 ช่วง ตั้งแต่ระยะแรกจนจบการปรึกษา ในด้านความลึกซึ้ง ความราบรื่น ความรู้สึกทางบวกและความรู้สึกตื่นตัว จากการประเมินของนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดและผู้รับบริการ และศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ในด้านความลึกซึ้งและความราบรื่น ในการเป็นตัวทำนายความรู้สึกทางบวก และความรู้สึกตื่นตัวหลังจากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแต่ละช่วง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด 3 คน และผู้รับบริการ 50 คน จากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม 9 กลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ทำแบบประเมินการปรึกษาเชิงจิตวิทยาภายหลังจากจบกลุ่มช่วงที่ 1, 2 และ 3 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ และวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุ ผลการวิจัยพบว่า 1. โดยภาพรวมนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด ประเมินการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มว่า ได้ผลค่อนข้างมากในช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 และได้ผลมากในช่วงที่ 3 ส่วนผู้รับบริการประเมินผลโดยรวมว่าได้ผลมากในทั้ง 3 ช่วง 2. คะแนนการประเมินผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ของนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด จากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในระยะแรกจนจบการปรึกษาทั้ง 4 ด้าน ในทั้ง 3 ช่วงไม่แตกต่างกัน 3. คะแนนการประเมินผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้รับบริการ ในด้านความลึกซึ้ง ความรู้สึกทางบวกและความรู้สึกตื่นตัว ในช่วงที่ 3 มากกว่าช่วงที่ 2 และช่วงที่ 1 ตามลำดับ และในด้านความราบรื่น ในช่วงที่ 3 มากกว่าช่วงที่ 2 และช่วงที่ 1 4. คะแนนการประเมินผลของ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มในด้านความลึกซึ้ง และความราบรื่น สามารถเป็นตัวทำนายผลในด้านความรู้สึกทางบวก และความรู้สึกตื่นตัวหลังจากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแต่ละครั้งได้ การวิจัยส่วนที่ 2 วิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม จากการประเมินการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ของนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดและผู้รับบริการ หลังจากสิ้นสุดการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มแต่ละกลุ่ม โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดทั้ง 3 คน และผู้รับบริการจากกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา 9 กลุ่ม ที่สมัครใจให้สัมภาษณ์กลุ่มละ 2 คน รวมเป็น 18 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดรับรู้ประสิทธิภาพ ของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ความจริงใจ ยอมรับและเข้าใจอย่างรู้สึกของนักจิตวิทยาการศึกษาฝึกหัด ซึ่งสร้างสัมพันธภาพในการให้ความช่วยเหลือ ช่วยให้ผู้รับบริการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก และพัฒนาเติบโต 2. ผู้รับบริการรับรู้ประสิทธิภาพของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มและนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด สัมผัสสัมพันธภาพที่เกื้อหนุน อบอุ่น เข้าใจและมึคุณค่าช่วยให้ผู้รับบริการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกและเติบโต