Abstract:
วัตถุประสงค์ ศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อ เมื่อทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต และแช่วัสดุในน้ำประปาตลอดเวลา ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ วัสดุและวิธีการ ทำการศึกษาในวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อ 4 ยี่ห้อ (COE-SOFT TM, Dura Conditioner, Trusoft TM และ Visco-gel) และน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม 3 ยี่ห้อ (Polident, Steradent และ Clean A Dent) โดยทำชิ้นทดสอบทั้งหมด 520 ชิ้น แบ่งเป็น 52 กลุ่ม ตามวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อ น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม และระยะเวลาในการแช่ เตรียมชิ้นทดสอบรูปดัมเบลล์ตามมาตรฐานไอเอสโอ 37 ทำการวัดสีของชิ้นทดสอบในวันเริ่มต้นและวันครบรอบระยะเวลาทดสอบ ด้วยเครื่อง อัลตราสแกน เอ็กซ์ อี แล้วนำมาคำนวณหาค่าการเปลี่ยนแปลงของสี ทดสอบความแข็งผิวของวัสดุด้วยเครื่องดูโรมิเตอร์ แบบเอ ทดสอบการตอบสนองต่อแรงดึงของวัสดุด้วยเครื่องทดสอบสากลลอยด์ รุ่นแอลอาร์ 10 เค นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวเพื่อหาความแตกต่างระหว่างกลุ่มในแต่ละสัปดาห์และความแตกต่างจากวันเริ่มต้นการทดลอง ทำการวิเคราะห์อิทธิพลของน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม น้ำประปา และระยะเวลาในการแช่ ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง เมื่อพบว่ามีความแตกต่างในระหว่างกลุ่ม จึงทำการเปรียบเทียบเชิงซ้อนด้วย Duncan's New Multiple Range Test ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 ผลการทดลอง วัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อทุกชนิดที่ศึกษามีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพ โดยเกิดการเปลี่ยนสี ความแข็งผิว และการตอบสนองต่อแรงดึง ในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นอิทธิพลของน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม น้ำประปา และระยะเวลาในการแช่