Abstract:
ศึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ อันเป็นผลจากปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจของชุมชนเวียงพระธาตุลำปางหลวง เพื่อกำหนดแนวทางและเสนอแนะรูปแบบการอนุรักษ์และพัฒนา โดยผ่านกระบวนการออกแบบชุมชนเมือง ซึ่งมีส่วนร่วมของชาวเมืองในการพิจารณาในการออกแบบ จากการศึกษาพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเวียงพระธาตุลำปางหลวงนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประการคือ ปัญหาขาดการให้ความสำคัญและแสดงความชัดเจนขององค์ประกอบทางกายภาพของเมือง ปัญหาขาดการพัฒนาพื้นที่รองรับกิจกรรมของชาวเมือง ปัญหาระบบสาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมเมือง และปัญหาขาดการพัฒนาพื้นที่รองรับแหล่งงานภายในชุมชน การอนุรักษ์และพัฒนาเวียงพระธาตุลำปางหลวง ประกอบด้วย 1. การอนุรักษ์และฟื้นฟูองค์ประกอบสำคัญของเมือง ซึ่งประกอบด้วยแนวคันดิน-คูน้ำ โดยการฟื้นฟูสร้างขึ้นมาใหม่ให้ได้รับรู้ขอบเขตของเมืองโบราณ และสามารถเชื่อมต่อกับลำห้วยแม่แก้ เพื่อประโยชน์ในระบบการจัดการน้ำภายในเมือง, ศาลาน้ำแต้มและบ่อดิน โดยการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คงอยู่อย่างมีคุณค่าเคียงคู่วัดพระธาตุลำปางหลวง และบ่อน้ำเลี้ยงจามเทวี โดยการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้สามารถใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชุมชนได้ รวมทั้งกำหนดขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่พัฒนาให้มีความชัดเจน 2. ปรับปรุงพื้นที่ประกอบกิจกรรมของชุมชน และกิจกรรมการท่องเที่ยว บริเวณลานหน้าวัดและลานข้างวัด 3. ปรับปรุงแนวเส้นทางสัญจร และระบบสาธารณูปโภคภายในชุมชน 4. ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนด้วยการใช้ทางเดินเท้าและทางจักรยาน 5. สร้างศูนย์กลางการค้าขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน การศึกษาในครั้งนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาในภาพรวม และเสนอแผนดำเนินการเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล ลำปางหลวง จังหวัดลำปาง กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งชุมชนทราบเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเวียงพระธาตุลำปางหลวงแห่ง นี้ต่อไป