Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางประชากรเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมของหัวหน้าครัวเรือนตัวอย่างกับความคิดเห็นต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในชุมชนที่อยู่อาศัยของเขาเหล่านั้น ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ใช้ข้อมูลของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติและจัดลำดับความสำคัญการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2538 จำนวน 868 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังได้รวบรวมแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ครั้งนี้รวมทั้งจัดทำแบบจำลองแนวคิดในการศึกษาไว้ด้วย ผลการศึกษาพบประเด็นที่น่าสนใจคือ หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งในชุมชนน่าจะเป็นผลดีต่อชุมชนมากกว่าจะเป็นผลเสียต่อชุมชนโดยเฉพาะประชากรในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย แนวโน้มของสถิติข้อมูล แสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตามที่ได้สร้างไว้เพื่อการวิเคราะห์ครั้งนี้ แต่ทั้งนี้ก็มีระดับของความสัมพันธ์มากน้อยแตกต่างกันไป ตามลักษณะของตัวแปร และเมื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยไคสแควร์ พบว่า อาชีพ การศึกษา รายได้ เขตที่พักอาศัย ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ชายฝั่งหรือพื้นที่ตอนใน เป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ เท่ากับหรือต่ำกว่า 0.05